เรื่องที่ต้องรู้ .. ปรับตัวเพื่อรับมือกับตลาด AEC ของคนทำงาน ก่อนจะสาย
credit: www.jobsdb.com
อีกไม่กี่ปี นับจากเวลาที่คุณอ่านบทความนี้ .. คน ASEAN กว่า 650 ล้านคนในชาติสมาชิก ASEAN กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการปรับตัว และคุณเองก็คือ 1 ในนั้น
เรื่องของตลาดแรงงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเริ่มจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่ต้องออกมาแข่งขันหางานทำกับคนต่างชาติต่างภาษา และต้องอยู่กับนายจ้างที่ไม่ใช่คนไทยอีกจำนวนมาก
“เรื่องต้องรู้” จึงมีคำแนะนำสำหรับนักศึกษาให้เตรียมพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ AEC สิ่งแรก ต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และตระหนักถึงการอยู่ร่วมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะเมื่อ AEC เริ่มต้นขึ้น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมคนต่างชาติ ต่างภาษาจะเข้ามาปะปนอยู่ในประเทศเรามากขึ้น จึงต้องปรับทัศนคติ และต้องตระหนักถึงความเป็นชาติมากขึ้น
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้มีวินัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รับผิดชอบ มุ่งเน้นความสามารถในกระบวนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย มีระบบ และรู้เท่าทันสถานการณ์ ต้องสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และปรับตัวเองให้เข้ากับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม เพื่อโอกาสในการหางานทำที่ดี
สำคัญอีกด้านคือการใช้ภาษาอังกฤษ ต้องยอมรับว่าเรื่องภาษาเป็นจุดด้อยของประเทศเรา เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ ที่มีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เมื่อเราก้าวเข้าสู่ AEC ตลาดแรงงานจะเปิดกว้างทันที คนอีก 9 ชาติที่เป็นสมาชิก AEC จะเดินทางมาทำงานประเทศไหนก็ได้ง่ายกว่าเดิม แน่นอนว่าตำแหน่งงานในไทยจะถูกแย่งไปโดยชาวต่างชาติมากขึ้น และถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ โอกาสหางานทำยิ่งยากลำบาก
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เร่งเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ให้สามารถสื่อสารได้ และต้องสร้างโอกาสเรียนรู้ทุกด้านไปพร้อมกันเพราะในอนาคตสังคมไทยจะอยู่แค่ความสามารถอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจในด้านต่าง ๆ ด้วย
การฝึกฝนตนให้พร้อมจะก้าวไปสู่ตลาดงานในอนาคต นอกจากตัวนักศึกษาเองแล้ว สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องสอดแทรกความรู้เรื่อง AEC และสอนการใช้ภาษาอังกฤษให้เข้มข้นขึ้นด้วย ยิ่งปีนี้ก็ถือเป็นโอกาสทองของนักศึกษา ที่ภาครัฐจัดให้เป็น “ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ English Speaking Year 2012” ก็ต้องรีบฉวยโอกาสนี้เรียนรู้ ฝึกให้เกิดการเคยชินในการใช้ภาษาอังกฤษ อาจเริ่มจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด ก็ยังไม่สายที่จะเรียนรู้
การเตรียมการรับ AEC ยังมีอีกมากมายหลายด้าน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป รีบเรียนรู้ทำความเข้าใจตั้งแต่วันนี้ นับเป็นความพยายามที่ดี ที่จะผลักดันและสร้างสังคมไทยให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การเปิดเสรีแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2558 มีผลให้แรงงานใน 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ งานทันตแพทย์ งานแพทย์ งานพยาบาล งานบัญชี งานวิศวกรรม งานสถาปัตยกรรม และงานการสำรวจสามารถโยกย้ายได้อย่างเสรี เมื่อแรงงานในประเทศและนอกประเทศสามารถโยกย้ายเข้าออกได้อย่างเสรีแล้ว HR ผู้มีหน้าที่ใน การบริหารงานบุคคล ต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ องค์กรข้ามชาติอาจเข้ามาแย่งพนักงานของคุณ หรือองค์กรคุณเองอาจเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน จึงควรมีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับตัวทางด้านวัฒนธรรม พัฒนาทักษะใน งาน HRพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของเราให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งการรักษาคนเก่งไม่ให้สมองไหลออกไปยังต่างประเทศด้วย
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงทักษะความรู้ที่ HR ต้องพัฒนาเพื่อรับมือ AEC ไว้ดังนี้
ทักษะด้านภาษา
โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทั้งโอกาส และอุปสรรคสำคัญของคนไทยในการแข่งขันกับคู่แข่ง องค์กรจึงควรมีการพัฒนาบุคลากรในด้านภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียมคู่แข่ง และสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติได้อย่างราบรื่น
กระบวนการทำงาน
หลายฝ่ายในองค์กรอาจต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ตำแหน่งงานและคุณสมบัติของคนทำงานเปลี่ยนไป ซึ่ง HR จะมีส่วนร่วมในการดูแลพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีศักยภาพเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ
วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
เมื่อต่างชาติเข้ามาในไทย เขาจะนำเอาวัฒนธรรมบางอย่างเข้ามาด้วย พนักงานจำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้แต่ความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกัน
วัฒนธรรมขององค์กร
เมื่อกลายเป็นองค์กรแบบ Multi-Culture อาจมีวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม เช่น การจ่ายผลตอบแทน หรือการเลื่อนตำแหน่ง ที่มองตามความอาวุโส แม้คนไทยส่วนใหญ่จะชอบให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเปิดการค้าเสรีแล้ววัฒนธรรมนี้จะทำให้คนเก่งแต่อาวุโสน้อยหนีหายไปจากองค์กรได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น