วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โนโมโฟเบีย โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เราเข้าข่ายไหมนะ?



        โนโมโฟเบีย โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เราเข้าข่ายไหมนะ?

       credit: postjung.com



              โนโมโฟเบีย (Nomophobia) โรคกลัวขาดมือถือ เผลอปุ๊บต้องหยิบมาเล่นปั๊บ ลองเช็กอาการกันหน่อยซิ คุณก็เป็นด้วยใช่ไหม?

              ...ตื่นนอนขึ้นมาปุ๊บ สิ่งแรกที่คุณทำคืออะไร?
              ...แล้วก่อนจะหลับตาลงนอนล่ะ สิ่งสุดท้ายที่คุณทำคืออะไร?

              ถ้าคำตอบของคุณคือการเล่นสมาร์ทโฟน แสดงว่าคุณก็เหมือนกับหลาย ๆ คนในยุคดิจิตอลที่รับเอาสมาร์ทโฟนมาเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปอย่างมิต้องแปลกใจเลยค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนจด ๆ จ้อง ๆ จิ้ม ๆ จอสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้มีหน้าที่เป็นแค่โทรศัพท์อีกต่อไป 
              แบบนี้แล้ว หลายคนก็เลยมีอาการเสพติดมือถือ ประเภทที่ชอบถ่าย ชอบอัพ ชอบแชร์ให้ทันต่อทุกสถานการณ์ รวมทั้งยังชอบเช็กมือถือบ่อย ๆ ถึงขนาดที่ว่าถ้าได้ยินเสียง "ติ๊ง" แล้วไม่ได้หยิบขึ้นมาดู ก็กระวนกระวายใจ (จนแทบจะลงแดง) เลยเชียว อาการอย่างนี้เขาเรียกว่า "โนโมโฟเบีย" (Nomophobia)ที่หลายคนรวมทั้ง "คุณ" ก็กำลังเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัวจริง ๆ นะ

     โรคโนโมโฟเบีย เป็นอย่างไร?

              โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า "no mobile phone phobia" เป็นศัพท์ที่ YouGov องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล 

              ทั้งนี้ ถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์ดันหมดซะงั้น แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ถ้าบางคนเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ ซึ่งอาการจะหนักเบาขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคน

              ที่ต้องรู้ก็คือ โรคโนโมโฟเบียไม่ได้พบแค่ในคนไทยเท่านั้นนะ แต่พบได้ทั่วโลก โดยจากการสำรวจทั่วโลกพบคนมีอาการโนโมโฟเบียกันมากขึ้นตั้งแต่ยุคดิจิตอลเข้ามาครอบงำชีวิตประจำวัน และคนที่มีอาการพะว้าพะวงกับการใช้โทรศัพท์ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น วัยทำงานมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เพราะวัยรุ่นวัยทำงานเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกมส์ ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงอัพเดทข่าวคราวถึงกันบ่อย ๆ และในคนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสียด้วย อาจเป็นเพราะนิสัยของผู้หญิงที่ชอบคุย มีความสนใจในสิ่งรอบ ๆ ตัวมากกว่าผู้ชายนั่นเอง

     พฤติกรรมไหน เข้าข่ายอาการโนโมโฟเบีย?

              รู้จัก "โนโมโฟเบีย" ไปกันบ้างแล้ว งั้นมาลองเช็กอาการหน่อยดีกว่าว่า "คุณ" เริ่มมีแนวโน้มการเป็น "โนโมโฟเบีย" แล้วหรือยัง? ถ้าใครเริ่มมีพฤติกรรมคล้าย ๆ นี้ ก็ฟันธงได้เลย เช่น...

               พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ ตัว และจะรู้สึกกังวลใจมากถ้ามือถือไม่ได้อยู่กับตัว

               หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ อัพเดทข้อมูลในสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เพราะห้ามใจไม่ไหว 

               เมื่อมีเสียงเตือนเข้ามา คุณจะวางภารกิจตรงหน้าทั้งหมด เพื่อเช็กข้อความในโทรศัพท์ ไม่งั้นจะไม่มีสมาธิ ลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายใจ จนทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อไม่ได้

               ตื่นนอนปุ๊บก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กข้อความปั๊บ พอก่อนจะนอน ก็ยังเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์ 

               ชอบเล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันไปด้วย เช่น ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า

               หากวางมือถือไว้ผิดที่ หรือหาไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมาก

               กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

               ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย 

               ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก

               ลองตั้งใจจะไม่เล่นมือถือสัก 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถทำได้ ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเล่นทุกทีสิ


     รู้ไหม? โนโมโฟเบียทำเสี่ยงอีกสารพัดโรค

              สำรวจพฤติกรรมดูแล้วตรงกับตัวเองกี่ข้อ แต่ตรงหลายข้อต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองกันแล้วล่ะค่ะ เพราะคนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเองเป็นเวลานาน ๆ นอกจากจะขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างแล้ว ยังเสี่ยงต่อสารพัดโรคที่เกิดจากเครื่องมือสื่อสารในยุคไซเบอร์ ทั้ง...

               นิ้วล็อก 

              เกิดจากการใช้มือกด จิ้ม สไลด์หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการนิ้วชา ปวดข้อมือ เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองนิ้วมือเริ่มแข็ง กำแล้วเหยียดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นสัญญาณบอกให้รีบไปพบแพทย์แล้ว

               อาการทางสายตา

              เกิดจากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ นานเกินไป ทำให้สายตาล้า เกิดอาการตาแห้ง นาน ๆ เข้าทำให้จอประสาทตาเสื่อม และวุ้นในตาเสื่อมได้

               ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ 

              เพราะคนส่วนใหญ่เวลาเล่นโทรศัพท์มักจะก้มหน้า ค้อมตัวลง ทำให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็ง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา 

               หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร 

              จากการนั่งผิดท่า นั่งเกร็งเป็นเวลานาน ๆ และทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย หากเป็นหนักจนมีอาการปวดมาก ๆ แพทย์ต้องผ่าตัดรักษาให้

               โรคอ้วน

              แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สมาร์ทโฟนนาน ๆ โดยตรง แต่ถ้าเราติดมือถือขนาดหนัก นั่งเล่นทั้งวันแทบไม่ลุกเดินไปไหน ร่างกายก็จะไม่เกิดการเผาผลาญ อาหารที่เราทานเข้าไปก็จะเป็นไขมันไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทีนี้โรคอ้วนถามหาแน่นอน 

     ติดมือถือซะแล้ว ต้องแก้ไขซะใหม่ ! 

              เพื่อป้องกันโรคทั้งหลายทั้งมวล และไม่ปล่อยให้คุณเสพติดมือถือขนาดหนักอีกต่อไป ลองมาดูคำแนะนำดี ๆ ให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองกันค่ะ ลองใช้วิธีง่าย ๆ อย่างเช่น...
               พยายามใช้มือถือเท่าที่จำเป็น และหากิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย 

               ถ้ารู้สึกเหงา ให้หาเพื่อนคุยแทนการใช้โทรศัพท์ เช่น คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน นัดเพื่อนมาเจอกัน อย่าหมกมุ่นอยู่กับการสนทนาผ่านหน้าจอโลกไซเบอร์

               ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาห่างจากมือถือให้ได้มากขึ้น

               ลองกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ แล้วทำตามให้ได้ จะได้ไม่ต้องหยิบมือถือมาเล่นทันทีตั้งแต่ลืมตาตื่น หรือผล็อยหลับไปกับมือถือที่เล่นก่อนนอน 

               หากมีอาการหนัก ไม่สามารถห่างมือถือได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งถ้าใครมีอาการหนักมาก ๆ ทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น