วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตอบโจทย์ AEC : การศึกษาไทยเตรียมพร้อมอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลง



    ตอบโจทย์ AEC : การศึกษาไทยเตรียมพร้อมอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลง

     credit: www.siamrath.co.th



ขณะที่ไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community—AEC) คำถามที่ทุกฝ่ายต่างสงสัย คือ เรา "พร้อม" แค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (AEC) เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน (ASEAN) อันประกอบไปด้วย "ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน" (ASEAN Political-security Community) "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (ASEAN Economic Community) และ "ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน" (ASEAN Socio-Cultural Community) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี

แน่นอนว่า การเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุด ณ วินาทีนี้ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากอีกประการซึ่งพวกเรายังคงต้องตั้งคำถามถึงก็คือเรื่องของ "การศึกษา"
นอกจากประเด็นเรื่อง "ภาษา" แล้ว ใจความหลักที่การศึกษาไทยในยุค AEC จะต้องครอบคลุมก็มี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการและทักษะของแรงงาน, การพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี, รวมไปถึงการปรับทัศนคติให้คนไทยเข้าใจและอยู่ร่วมกับคนจากหลากหลายวัฒนธรรมได้
Tcdcconnect ได้มีโอกาสคุยกับ ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และนายกสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ อดีตประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ปี พ.ศ.2516 ซึ่งได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
"คน-การศึกษา" หัวใจของเสาหลักทั้งสาม “มนุษย์" คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของทุกเสาหลัก ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมี "การศึกษา" เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ทั้งนี้ ตัวแปรหลักในกระบวนการการศึกษาที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญมากขึ้น ก็คือ การพัฒนา "ครู" และ "หลักสูตร" รวมทั้งการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของประชาชนคนไทย
“นักการศึกษาต้องทบทวนหลักสูตรโดยเล็งเห็นถึงความต้องการของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาเราเน้นแต่การสอน นับจากนี้เราต้องสอนให้น้อยลง แต่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้น
การสอนน้อยลงหมายความว่า ครูต้องอ่านมากขึ้น เราต้องพัฒนาครูขนานใหญ่ รัฐบาลต้องมีเป้าหมายชัดเจน โดยมี ‘ภาษา’ เป็นเรื่องแรกที่ต้องพัฒนากันอย่างเร่งด่วน เพราะอาเซียนได้ตกลงกันแล้วว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง”
คนไทยมีทัศนคติว่า "เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร" "ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่" เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ผู้นำเราไม่เน้นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเลย ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เขามีอดีตผู้นำอย่างนาย ลี กวน ยู ที่มีวิสัยทัศน์ว่า ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะมีความสำคัญมาก ดังนั้น เขาจึงให้ข้าราชการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีน มีการพิมพ์หนังสือและขายเทปเรียนภาษาราคาถูก สิงคโปร์ตั้งเป้ากันยาวเป็น 20-30 ปี ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จ”
“ดังนั้น ไม่ว่าคนไทยจะเรียนทันหรือไม่ คำตอบคือ “ต้องทัน” และไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาเพื่อนบ้านอย่างภาษาเวียดนาม ลาว พม่า มาเลเซีย เราก็ควรต้องเรียนกันอย่างจริงจัง นอกจากนั้น อาเซียนต้องมีการแลกเปลี่ยนผู้ทรงคุณวุฒิกันภายในภูมิภาค จากเดิมที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น พอถึงยุค AEC เราต้องแลกเปลี่ยนกันเองภายในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจระหว่างกันด้วย”
“ต้องยอมรับว่า ประชาชนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทยังอ่อนแอในการร่วมขบวนและการปรับตัวสู่ AEC ดังนั้น เราต้องพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดช่องว่างทางการศึกษา และกลายเป็นช่องว่างทางเศรษฐกิจไปในที่สุด”
“นอกจากนี้ เราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วยการชื่นชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเขา การตอกย้ำความคิดที่ว่า "เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร" เป็นการทับถมผู้อื่น การศึกษาที่ดีต้องสอนว่าอะไรควร-ไม่ควรพูด เพื่อสร้างเสริมคุณค่าให้ทั้งกับตนเองและผู้อื่น”
“ประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การเสริมสร้างวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คนไทยเป็นชาติที่มีความยืดหยุ่นสูง แต่เมื่อเข้าสู่ AEC แล้ว ต้องไม่ลืมว่า เรายืดหยุ่นได้เฉพาะกับคนไทย ดังนั้น การศึกษาต้องเสริมสร้างคนให้มีวินัยด้วย"
ในการบรรยายพิเศษเรื่อง "เรียนรู้ความแตกต่างในตลาด AEC” โดย ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ (ส่วนหนึ่งของการสัมมนาเรื่อง "สร้างแบรนด์ยุค 3.0 อย่างไร ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในตลาด AEC” โดยหอการค้าไทย) พบว่า นโยบายการศึกษาและการพัฒนาคนของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้นไทย) ล้วนแล้วแต่มีทิศทางชัดเจน ดังจะเห็นได้จากชื่อกระทรวงที่สะท้อนวิสัยทัศน์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ “Ministry of Manpower” ของสิงคโปร์ หรือ “Ministry of Labour” ในประเทศอื่น
นโยบายการศึกษาของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน
1. สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการขยับจาก “ASEAN Citizen” เป็น “Global Citizen”
2. กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมโยงสู่จีน
3. ไทย ลาว เป้าหมายยังไม่ชัดเจน คุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานยังเป็นปัญหา
วิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนาประชากรของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน
"ชุมชน” = ห้องเรียนในอนาคต เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลและอินเตอร์เน็ต คือ นวัตกรรมทางการศึกษาของนักเรียนในอนาคต การเข้าถึงข้อมูลความรู้ (Information access) จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าเทคโนโลยี (ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้) ก็คือ การสร้างจิตสำนึกและภาวะผู้นำ (Leadership) (เพื่อนำเอาความรู้ต่างๆ มาพัฒนาต่อยอดในชุมชน) ศ.ดร.นพ.กระแส กล่าวว่า ห้องเรียนที่สำคัญที่สุดคือ "ชุมชน" 
ที่ผ่านมา โลกของเราได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาไว้เป็น 3 ขั้น คือ
1. Informative Education คือ เรียนเพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา
2. Formative Education คือ เรียนเพื่อนำเอาวิชาต่างๆ ที่อยู่สาขาเดียวกันมาสร้างเป็นองค์ความรู้ อย่างเช่น แพทย์ เภสัชฯ กายวิภาค เกิดเป็นสาขาแพทย์ เภสัช พยาบาล ฯลฯ
3. Transformative Education คือ เรียนเพื่อนำเอาวิชาการและวิชาชีพที่ถนัดมาเชื่อมโยงกับสาขาอื่นๆ ที่แตกต่าง อย่างเช่น หมอใช้ความรู้ด้านนิติศาสตร์เพื่อทำงานกับชุมชน
“ปัจจุบันนี้ หลักสูตรการศึกษาของไทยเดินมาถึงขั้นที่สองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หลักสูตรการศึกษาก็ควรต้องเปลี่ยนตามด้วย ในอนาคตการศึกษาของเราต้องเป็นแบบ Problem-based education คือเอาปัญหาเป็นตัวตั้งหรือศูนย์กลาง นอกจากนี้ "การศึกษานอกระบบ" และ "การศึกษาตามอัธยาศัย" ก็ต้องเน้นให้ถูกวัตถุประสงค์มากขึ้น คือเรียนแล้วสามารถนำไปทำมาหากินได้จริง ที่ผ่านมาเราเรียนกันเพื่อปรับวุฒิเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้มุ่งจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนจริงๆ"
การศึกษาแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผลที่ตามมาประการหนึ่งก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (MRAs) แล้วใน 7 สาขา คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี (บุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว มีประเทศไทยที่ยังไม่ได้ลงนามใน MRA) 
ดังนั้นประเด็นที่หลายฝ่ายวิตก ก็คือ ต่อไปจะมีการดึงหรือซื้อตัวบุคลากรในวิชาชีพเฉพาะจนอาจเกิดภาวะขาดแคลนในบางประเทศได้
“สาขาที่กระทรวงศึกษาธิการระบุว่าจะขาดแคลนมากก็คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ดังนั้นรัฐต้องมีแผนที่ชัดเจนเช่นว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเราต้องการวิศวกรกี่คน แพทย์กี่คน ฯลฯ และหากภายในประเทศผลิตได้ไม่พอ เราก็ต้องวางแผนนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย”
 นอกจากนั้นแล้วเรายังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิเช่น ในวงการแพทย์สมัยก่อนจะให้ความสำคัญกับยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันนี้มีโรคติดเชื้อน้อยลง ผู้คนกลายเป็นโรคที่เกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตมากกว่า อย่างเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ อีกทั้งยังมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่หันไปสนใจศาสตร์ด้านความงาม ฯลฯ เห็นชัดว่ากลยุทธ์และนโยบายทางการศึกษาจำเป็นต้องถูกกำหนดให้เป็นไปตามสภาพสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น