วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความเป็นมา ของ iBeacons และการนำไปใช้งาน

ความเป็นมา ของ iBeacons และการนำไปใช้งาน


www.siampod.com



ลองนึกภาพการเดินชมในบางพิพิธภัณฑ์ที่เราจะได้รับแจก PDA มาเพื่อฟังคำบรรยายเสียงเมื่อเดินไปถึงสิ่งที่แสดง ด้วยเทคโนโลยีในอดีต จะเห็นว่านี่เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแพงหากจะนำมาใช้งานในร้านค้า แต่ด้วยยุคสมัยที่ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนของการใช้งานลักษณะนี้จึงถูกลงมากเหลือแค่ระบบจัดการหลังบ้านและการพัฒนาแอปซึ่ง iBeacons นี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่แอปเปิ้ลนำมาใช้ต่อกรกับคู่แข่งทางฝั่ง Android
ความเป็นมา
จากเอกสารของแอเปิ้ล (ภาษาไทย) ได้ระบุว่า iBeacons คือส่วนเสริมของบริการหาที่ตั้ง ที่จะ “เตือนแอปต่าง ๆ” เมื่อ “ถึงหรือออกจากตำแหน่งที่ตั้งอุปกรณ์ iBeacon” จากคำที่เน้นในข้อความนี้ จะเห็นภาพว่า ผู้ใช้ (เปิด Location Service แล้ว) ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการใดพิเศษ เพียงแค่ไปอยู่ใกล้กับอุปกรณ์ iBeacons แล้วอุปกรณ์มันจะติดต่อกันเอง เทคโนโลยีเบื้องหลัง iBeacons นั้นคือ Bluetooth Low Energy (BLE) ทำให้อุปกรณ์ที่สนับสนุนการใช้งาน คืออุปกรณ์ iOS ที่ระบุว่าเป็น Bluetooh 4.0 นั่นเอง
ibeacons_03
รูปภาพ : blog.nerdery.com

ทำไมต้อง BLE? แอปเปิ้ลมองว่าความสามารถของ BLE นั้นว่าเพียงพอแล้วในการนำมาใช้งาน (ข้อสนับสนุนอยู่ในหัวข้อต่อไป) จึงไม่มีการเพิ่ม NFC (Near Field Communication) เข้ามาซึ่งมักจะถูกใช้โฆษณาบนอุปกรณ์ของคู่แข่ง ประกอบกับคุณลักษณะ “การสื่อสารระยะใกล้” ทำให้อุดช่องโหว่ของ GPS ที่เก่งในพื้นที่ใหญ่ ๆ (กรณีนี้คือแผนที่โลก) จากการค้นดูสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องพบว่าแอปเปิ้ลเริ่มจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องราวปี ค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการจำหน่าย iPad 3 (Bluetooth 4.0) พอดี

คู่แข่ง
คู่แข่งสำคัญของ iBeacons นั้นคือ NFC – Near Field Communication (ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม RFID) ที่จากชื่อก็ชัดเจนในจุดประสงค์ของมันคือ “การสื่อสารระยะใกล้” สิ่งที่ Bluetooth มีความได้เปรียบกว่า NFC คือระยะทำการ เนื่องจาก Bluetooth นั้นสามารถใช้งานได้ระดับสิบเมตรซึ่งต่างจาก NFC ที่ใช้งานได้แค่ระดับเมตร รวมถึงปริมาณข้อมูลที่ Bluetooth ให้มากกว่า NFC กว่าหลายสิบเท่า (wiki: NFC)
nfc-icon
รูปภาพ : androidbeat.com

หากมีการผลิตอุปกรณ์ที่สนับสนุนทั้ง iBeacons และ NFC ขึ้นมาก็คงจะมีปัญหาการใช้งานน่าดู เนื่องจากข้อจำกัดข้างต้น อาจจะทำให้ประสบการณ์การใช้งานของอุปกรณ์ฝั่ง NFC ไม่ดีเท่าใดนัก

การนำไปใช้งาน
การลงทุนกับ iBeacons นั้น ต้องมีการวางแผนระบบหลังบ้าน รวมไปถึงต้องสำรวจสภาพพื้นที่ในสถานที่ที่จะนำไปใช้งาน มันเหมาะที่จะใช้งานกับร้านค้าซึ่งมีพื้นที่พอสมควร มีการจัดสรรพื้นที่ในบริเวณร้านเป็นสัดส่วนแอปที่ใช้งานคู่กับระบบต้องมีโจทย์การใช้งานที่มากเพียงพอ
qualcomm-gimbal

จุดที่น่ากังวลกับการนำ iBeacons มาใช้งานนั่นก็คือฟีเจอร์หลักของมัน นั่นก็คือการแจ้งเตือนนั่นเอง เนื่องจากหากใช้งานเพียงฟังก์ชั่นนี้อย่างเดียวโดยไม่มีการผูกโยงเรื่องราวการใช้งานให้เหมาะสม มันจะดูไม่ต่างอะไรกับการใช้ Flash บนโฆษณาในเว็บไซต์ อาจจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของผู้นำไปใช้งานเลยก็ได้ สำหรับตัวอย่างผู้ประกอบการที่ได้นำ iBeacons มาใช้งานสามารถอ่านได้จากnetworkworld.com
สุดท้าย ผมเชื่อว่าเราอาจจะได้เห็นร้านค้าในห้างสรรพสินค้าใหญ่ นำ iBeacons มาใช้งาน แต่ก็คงไม่แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วมากอันเนื่องจากมันไม่ได้เป็นเพียงการวางแผนพัฒนาซอฟท์แวร์เท่านั้นแต่รวมไปถึงการสำรวจพื้นที่และตีโจทย์ของ App ที่จะให้ผู้ใช้งานได้ใช้ หากการลงทุนนี้สูงมากก็คงไม่สามารถนำมาขายสินค้าราคาถูกได้ แต่เมื่อผ่านการทดสอบทดลองจนเกิดเป็นแนวปฏิบัติขึ้นมา ต้นทุนต่าง ๆ ที่ว่ามาก็จะถูกลง จนสุดท้ายถึงแม้ว่าจะมาไม่ถึงร้านสะดวกซื้อ แต่อย่างน้อยร้านค้าที่มีสภาพสถานที่เหมาะสมก็น่าจะนำมันมาใช้งานได้
อุปกรณ์ iOS ที่สามารถใช้งาน iBeacons ได้ในปัจจุบัน
  • iPhone 4s หรือใหม่กว่า
  • iPad (รุ่นที่ 3) หรือใหม่กว่า
  • iPad mini หรือใหม่กว่า
  • iPod touch (รุ่นที่ 5) หรือใหม่กว่า

—————————
เผื่อใครนึกภาพไม่ออกว่า iBeacons จะนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง ด้านล่างเป็นวิดีโอโปรโมทเทคโนโลยี Gimbal ของ Qualcomm ที่เป็นลักษณะเดียวกับ iBecons ของแอปเปิ้ล ที่ช่วยให้เห็นภาพเกี่ยวกับ iBeacons ตามบทความข้างต้นได้มากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น