วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“ปฏิวัติ” กับ “รัฐประหาร” ต่างกันอย่างไร และทำไมถึงใช้กันสับสน




“ปฏิวัติ” กับ “รัฐประหาร” ต่างกันอย่างไร และทำไมถึงใช้กันสับสน


 www.zeawleng.wordpress.com



“ปฏิวัติ” กับ “รัฐประหาร” เป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกัน แต่ที่ผ่านมามีการใช้อย่างสับสนทั้งในส่วนของประชาชนสื่อมวลชน หรือไม่แต่คณะผู้ก่อการเอง อย่างเช่นเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาก็มีหลายคนใช้คำว่าปฏิวัติ ทั้งที่ว่าตามความหมายเป็นการรัฐประหาร ประเด็นคำถามคือ แล้ว 2 คำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมคนไทยถึงชอบใช้ทั้ง 2 คำปะปนกัน
“ปฎิวัติ” เป็นศัพท์ที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษ “Revolution” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างรวดเร็วหรือเฉียบพลัน ซึ่งในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งเดียวคือ การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรญาณาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ผู้คิดค้นคำว่า ปฏิวัติ ก็คือ “กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” ซึ่งภายหลังได้ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตคนแรก

ก่อนหน้าจะมีคำว่า “ปฏิวัติ” เราเคยใช้คำว่า “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” และ “พลิกแผ่นดิน” มาแล้ว แต่ความหมายยังไม่ครอบคลุมคำว่า Revolution นัก รวมถึงคำว่าพลิกแผ่นดินยังฟังดูรุนแรงไป จึงได้บัญญัติศัพท์ “ปฏิวัติ” ขึ้น ต่อมา ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้ศัพท์ “อภิวัฒน์” แทนเพราะมีความหมายในเชิงการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่โดยรวมยังคงนิยมใช้ศัพท์ปฏิวัติมากกว่า

“รัฐประหาร” เป็นศัพท์ที่แปลมาจากคำภาษาฝรั่งเศส “Coup d’etat” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา มีการรัฐประหารเกิดขึ้นทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยมีหลากหลายรูปแบบทั้งการใช้กำลังทหารเข้ายึดครอง หรือการที่นายกรัฐมนตรีรวบอำนาจทั้งหมดมาไว้ที่ตน และยกเลิกโครงสร้างทางการเมืองที่มีอยู่ลง ซึ่งอย่างหลังเรียกว่า “รัฐประหารเงียบ หรือ รัฐประหารตัวเอง” ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความพยายามในการก่อรัฐประหาร (รวมถึงปฏิวัติ) แต่ไม่สำเร็จ คณะผู้ก่อการจะถูกเรียกว่า “กบฎ” แทน

ดังนั้น ความต่างของ “ปฏิวัติ” กับ “รัฐประหาร” ก็คือ ปฏิวัติมุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่รัฐประหารเปลี่ยนเฉพาะคณะผู้ปกครองเท่านั้น โดยไม่เปลี่ยนระบอบตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของความสับสนเริ่มต้นขึ้นจากการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ซึ่งได้เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ” และมีการออก “ประกาศคณะปฏิวัติ” อีกหลายสิบฉบับต่อมา

เหตุที่ใช้คำว่า “ปฏิวัติ” แทน “รัฐประหาร” เป็นไปได้ว่าเพราะเห็นว่าคำว่ารัฐประหาร ฟังแล้วดูรุนแรงเกินไป เนื่องจากมีคำว่า ประหาร ที่แปลว่า ฆ่า อยู่ อีกทั้งคำว่า ปฏิวัติ ยังมีนัยยะสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงและฟังแล้วดูยิ่งใหญ่กว่าด้วย

นอกเหนือจากจอมพลสฤษดิ์ การรัฐประหารครั้งต่อๆ มาคือ การรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 และการรัฐประหารโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ก็มีการใช้คำว่าปฏิวัติแทนตัวเอง รวมถึงกฎหมายที่ออกมาก็ใช้ชื่อว่า “ประกาศคณะปฏิวัติ” และด้วยเหตุที่ประกาศดังกล่าวออกมาหลายร้อยฉบับ ทำให้คนเลิกคุ้นชินกับคำว่า ปฏิวัติ และใช้แทนในความหมายของคำว่ารัฐประหาร

ภายหลังเมื่อคำว่า “ปฏิวัติ” เริ่มมีความหมายในแง่ลบมากขึ้น จึงเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน เช่น การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ใช้คำว่า “ปฏิรูป” เ็ป็นหลัก เพราะความหมายไม่ดูรุนแรงนัก แต่คนก็ยังคงคุ้นกันคำว่า ปฏิวัติ มากกว่า สังเกตจากหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์หลังเหตุการณ์นั้น ส่วนใหญ่ก็ยังใช้คำว่า “ปฏิวัติ” อยู่ เช่นเดียวกับปัจจุบันที่แม้หลายคนเริ่มหันกลับไปใช้คำว่า “รัฐประหาร” ตามความหมายที่แท้จริง แต่ก็ยังมีหลายคน หลายฉบับ หลายสื่อ ที่ยังใช้คำว่า ปฏิวัติ อยู่ เนื่องจากมันกลายเป็นศัพท์คุ้นปากไปแล้ว


หมายเหตุ: รูปประกอบจาก http://www.residentadvisor.net/event.aspx?470825 ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น