วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

Hashtag คืออะไร

Hashtag คืออะไร

www.thanop.com

ประวัติของ Hashtag โดยสังเขป

ความจริงเจ้าสัญลักษณ์ตัวนี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค หากจะพูดถึงประวัติและที่มาที่ไปของเจ้า Hashtag คงจะต้องย้อนกลับไปไกล ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และบุกเบิกของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ประมาณปี ค.ศ. 1970 โน่นเลย เพราะเจ้า Hashtag นี้มันสิงสถิตอยู่ในวงการผู้พัฒนาโปรแกรม หรือเขียนโปรแกรมนั่นเอง มันมีส่วนสำคัญในการเขียนโปรแกรม ในภาษาแอสเซมบลี และ ภาษาซี (C Language) จาว่า (Java) ในเวลาต่อมา ซึ่งหากใครที่อยู่ในยุคนั้น คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับเจ้าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี
ต่อมาในยุค 90′ เจ้ามันเริ่มกระโดดออกนอกวงการการเขียนโปรแกรมเสียแล้ว มันเริ่มเข้ามามีส่วนช่วย โปรแกรมแชท อย่างในสมัยก่อนที่เรียกว่า IRC ซึ่งย่อมาจากคำว่า Internet Relay Chat มันถูกใช้เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นช่อง (Channel) หรือ กรุ๊ป (Group) ที่ใช้ในการพูดคุย ปัจจุบันนี้ก็แนวๆ ห้องแชทแบบกรุ๊ปในแอพไลน์ แบบนี้เป็นต้น หรือแม้แต่ หัวข้อสนทนา (Topic) ต่างๆ นั่นเอง
จากนั้นเข้า Hashtag มันก็อยู่ในลูปของการเขียนโปรแกรม และ วงการแชท แบบนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งยุคสื่อสังคมออนไลน์เกิดขึ้นมา หรือที่เรียกว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มาเป็นที่นิยมในระยะหลังๆ ประมาณตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา ซึงยุคนั้นมีบริการโซเชียลเกิดขึ้นมามากมายเป็นสิบๆ แบรนด์ แต่สุดท้ายก็เห็นมีอยู่รอดมาไม่กี่แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือแม้แต่ Google+ นอกนั้นตายเรียบเกือบทั้งหมด
สำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์คเจ้าแรก ที่เริ่มใช้ Hashtag อย่างจริงจังเห็นจะเป็นเจ้านกน้อยทวิตเตอร์ นั่นเอง จากนั้นก็ตามมาเพียบไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และ Google+ ต่างก็เล่นกับฟีเจอร์นี้ได้กันทั้งหมด

Hashtag คืออะไรในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ?

หากพูดถึงเจ้าตัว Hashtag นั่นมันก็เปรียบเสมือนช่องของคลื่นวิทยุสื่อสาร ขอให้นึกถึงที่พวกตำรวจ รปภ. นิยมใช้สื่อสารกันนี่แหละ หากคุณใช้คนละชื่อ มันก็ไม่มีทางหากันเจอ และก็สื่อสารกันไม่ได้ หรือแม้แต่จะกล่าวเอ่ยถึงงาน งานเดียวกัน และ อยู่สถานที่เดียวกัน ก็ไร้ประโยชน์ ถ้าคุณใช้ Hashtag กันคนละชื่อ
สมมุติว่าคุณอยู่ที่งานแต่งงานของเพื่อนชื่อป้อมและจอย หากคนนึงใช้แท็กว่า #pomjoywedding และเพื่อนอีกคนหนึ่งใช้ว่า #pomjoywd แบบนี้ก็ถือว่าเป็นคนละคลื่น คนละช่องกันแล้ว ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย เหมือนมาคนละงาน และยากที่จะหาข้อมูล ที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ ดังนั้นควรจะมีการตกลงกันดีๆ ก่อน

วิธีใช้ Hashtag ใช้ยังไง ?

ความรู้สึกส่วนตัวผู้เขียน (ของผมเอง) หากจะพูดถึงระดับความนิยมของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่นิยมใช้ Hashtag มากที่สุดของคนไทย ระดับความนิยมเห็นจะเป็น อินสตาแกรม (IG) -> ทวิตเตอร์ -> เฟสบุ๊ค -> กูเกิลพลัส ตามลำดับ ทั้งๆ ที่เจ้านกน้อยอย่าง ทวิตเตอร์ นั้นมีให้บริการมานานแล้ว แต่ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา แต่กลับมานิยมใช้ Hashtag กันในเหล่าบรรดาผู้เล่นอินสตาแกรม เป็นเสียส่วนใหญ่ และบางครั้งก็ใช้แบบไม่เกิดประโยชน์
ซึ่งจะว่าไป การใช้เจ้า Hashtag นั้นมันไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ใช้มันได้อย่างชนิดที่เรียกว่าเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ใช้ขายของ ขายสินค้าได้ แถมบางทีอาจจะได้เพิ่มผู้ติดตาม (Follower) ได้เป็นจำนวนมากได้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

คำแนะนำ วิธีการใช้ Hashtag

Hashtag เปรียบเสมือนเป็นคำค้นหาหลัก หรือ ที่เรียกกันว่าคีย์เวิร์ด (Keyword) ที่ใช้เพื่อค้นหา กลุ่มคน กลุ่มเพื่อนที่ต่างมีความสนใจเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ด้านเดียวกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน อารมณ์เดียวกัน อยู่สถานที่เดียวกัน ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ใช้บริการที่เดียวกัน และอื่นๆ อีกมากมาย เกินกว่าจะบรรยาย จะสังเกตได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลยคือจะลงท้ายด้วยคำว่า …เดียวกัน ดังนั้นการใช้ควรจะเป็นคีย์เวิร์ด และมีความสั้น กระชับ อ่านแล้วได้ใจความ โดยขอสรุปการใช้มันมาให้สั้นๆ สัก 3-4 ข้อดังต่อไปนี้
  1. อย่าใช้มันแบบสิ้นเปลือง : เห็นบางคนใช้กันทุกวลี ทุกคำพูดที่พิมพ์ เว้นวรรคทีก็คั่นด้วยแฮชแท็ก สักทีนึง ซึ่งเกินความจำเป็นจนเกินไป เพราะคนอื่นจะเห็นว่ามันเป็นสแปมได้ ขอให้ใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่ายกตัวอย่างประโยค
#เย้ๆ #วันนี้ #วิชา #Database #อาจารย์ #แคนเซิลคลาส #ไปไหนต่อดิ #อิอิ #ไม่มีที่ไป #ชิล์
จากที่เห็นข้อความด้านบน เชื่อว่าผู้เล่นอินสตราแกรม คนจะเคยเห็นข้อความในลักษณะแบบนี้กันมาบ้าง ซึ่งแบบด้านบนนี้ถือเป็นการใช้แฮชแท็กอย่างสิ้นเปลือง และไม่มีประโยชน์ ซึ่งการใช้แฮชแท็กที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วยผู้ที่ตามคุณ (Followers) เท่านั้น แต่มันยังสามารถใช้เพื่อช่วยคนที่เขาคนหาเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ ได้อีกด้วย คำแนะนำของการใช้แฮชแท็กในกรณีด้านบนให้มีประโยชน์คือ
เย้ๆ วันนี้ วิชา Database อาจารย์ แคนเซิลคลาส ไปไหนต่อดิ อิอิ ไม่มีที่ไป ชิล์ #ABAC #BIS3635 #ABACBangna
จะสังเกตเห็นว่าใช้แฮชแท็กแค่ 2 ตัวอันดับแรกคือเพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นมหาลัยอะไร ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ อันดับที่สองเพื่อให้รู้ว่าวิชาอะไร โดยใช้รหัสวิชา เพื่อทำให้เพื่อนร่วมห้อง ร่วมวิชาเดียวกับเรา แม้จะไม่รู้จักกัน ก็อาจจะทราบว่า วันนี้ไม่มีเรียน อาจารย์ไม่มาสอนได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำไมไม่ได้ใส่เครื่องหมายแฮชแท็กที่คำว่า “Database” ก็เพราะว่า คนที่ใช้คำนี้มีทั่วโลก มันไม่มีประโยชน์เลยที่เขาจะต้องมารับรู้เรื่องราวของคุณว่าคลาสของคุณไม่มีเรียนวันนี้
  1. ตั้งแฮชแท็กใหม่เองได้ : ในเหตุการณ์ บางครั้งคุณสามารถคิดค้น สถาปนา แฮชแท็กมันขึ้นมาเองได้เลย อย่างเช่นหากคุณต้องการที่จะกรุ๊ปเรื่องๆ เดียวกันเอาไว้ แต่การพิมพ์ข้อความครั้งเดียวอาจจะมีพื้นที่ไม่พอ จึงต้องใช้แฮชแท็ก ในการช่วยรวมเรื่องเอาไว้ เวลาอ่านย้อนหลัง จะได้ค้นหาได้ง่ายๆ อย่างเช่นคุณไปเที่ยวฮ่องกง ก็อาจจะใช้ #ninghk หรือ เที่ยวอเมริกา #ningusa (คำว่า ning จริงๆ คือชื่อของผม ขอให้สมมุติว่าเป็นชื่อของคุณ ไปเลย)
แต่การที่จะตั้งแฮชแท็ก ใหม่ขึ้นมาแบบนี้ คุณจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ข้อความที่คุณจะโพส หรือทวีตออกไป จะต้องมีมากกว่า 1 ข้อความ (ทวีต) เพราะหากมีแค่ข้อความเดียวแล้วจบ ไม่มีเรื่องราว เรื่องเดียวต่อกันไปอีก ก็จะไม่รู้ว่าจะใช้ไปเพื่ออะไร
  1. งานอีเว้นท์ประกาศแฮชแท็กให้คนรู้ไปเลย : หากคุณมีงานอีเว้นท์ เช่นงานแต่งงาน งานเปิดตัวสินค้า อย่างเช่น #ninglingwedding พอใครหลายๆ คนมาร่วมงานเห็นในป้ายโปสเตอร์ ป้ายก่อนเข้างาน หรือในการ์ดเชิญ เขาจะได้ใช้แท็กตัวนี้ ร่วมกัน เผื่อใครอยากมาอ่านเหตุการณ์ ดูรูปย้อนหลัง ก็สามารถค้นหาได้จากตรงจุดนี้แหละ
Hashtag กับวงการธุรกิจ
มีบริการปริ้นต์รูป ที่ใช้แฮชแท็ก ที่ต้องการ ในงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยจะต้องใช้ แอพอินสตราแกรม แล้วอัพโหลดรูป โดยผ่านมือถือของเรา ซึ่งจะต้องมี มีแฮชแท็ก ที่เขากำหนดไว้ เมื่อใช้เสร็จ ก็จะมาโผล่อยู่บนหน้าจอ ซึ่งสามารถกดพิมพ์ออกมาในรูปแบบรูปถ่าย โปสการ์ด เก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกได้เลย

ตัวอย่างการใช้ Hashtag กับโซเชียลมีเดีย

TWITTER (ทวิตเตอร์)
เรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับ การใช้แฮชแท็กบนสือสังคมออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เลยก็ว่าได้ สำหรับเจ้านกน้อยอย่างทวิตเตอร์ ที่เริ่มใช้กันมานาน ตั้งแต่ยุคแรกๆ กันเลยก็ว่าได้ เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ก็ได้มีการเริ่มใช้มันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
การใช้แฮชแท็ก สำหรับทวิตเตอร์นั้น ค่อนข้างจะเป็นไปได้ดี และไม่ค่อยฟุ่มเฟือย สาเหตุเนื่องมาจาก ทวิตเตอร์ ได้จำกัดข้อความ ที่ถูกทวีตเอาไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 160 ตัวอักษร (Characters) ต่อ 1 ทวีต หรือ การส่งข้อความออกไป 1 ครั้งนั่นเอง
จากที่เล่นทวิตเตอร์มา สังเกตเห็นว่า ลักษณะการใช้แฮชแท็กของผู้ใช้งานทวีตเตอร์จริงๆ นั้น จะใช้ กล่าวถึงงาน อีเว้นต์ เหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงชื่อเฉพาะ ชื่อสินค้า ชื่อสถานที่ มากกว่าที่จะใช้แฮชแท็ก บ่งบอก หรือแสดงถึงความรู้สึกทั่วๆ ไป เช่น
#ShutdownBKK #ม็อบ #ปิดกรุงเทพ #McotXpress #NationTV #sutheptourliveinbkk2014
แต่ก็มีแฮชแท็กแปลกๆ ยาวๆ ที่เข้ามาติดโผกับเค้าเหมือนกัน อย่างเช่น
#มหกรรมเล่นมือถืออยู่ดีๆน้ำตาก็ไหล หรือแม้แต่ #โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย
http://www.lab.in.th/thaitrend/hashtag.php
FACEBOOK (เฟสบุ๊ค)
ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เฟสบุ๊ค ก็เพิ่งมาใช้เจ้าตัวแฮชแท็ก กันไม่นาน ประมาณช่วง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถใส่แฮชแท็ก ตามด้วยคีย์เวิร์ด หรือคำค้นที่ต้องการใส่เข้าไปได้ ซึ่งหากข้อความนั้นถูกตั้งไว้ว่าเปิดให้ใครดูก็ได้ (Public) ก็จะถูกรวมตัวเอาไว้ที่หน้านี้ ซึ่งใครที่ใช้คำนี้ ก็จะสามารถเข้าไปกรุ๊ป หรือ รวมอยู่ได้จากทั่วโลก
https://www.facebook.com/hashtag/xxxxx
โดย xxxxx แสดงถึงคำแฮชแท็ก ที่ใส่เข้าไป ยกตัวอย่างด้านล่าง
การใช้ Hashtag อย่างถูกวิธี
การใช้แบบนี้คำที่มีประโยชน์คือ #Breakfast แต่คำว่า #จัดแต่เช้า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร ซึ่งหากเรานำไปค้นหาดูจริงๆ บนเฟสบุ๊ค ก็จะพบว่า มีผลลัพธ์การค้นหาจริงๆ แค่แท็กเดียวนั่นคือคำว่า Breakfast นั่นเอง
https://www.facebook.com/hashtag/Breakfast
ในส่วนของคำว่า #จัดแต่เช้า และ คำว่า #ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร จากที่ค้นดูจะไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องเลย
https://www.facebook.com/hashtag/จัดแต่เช้า
https://www.facebook.com/hashtag/ไหวมั้ยกระเพาะอาหาร
หมายเหตุ : การใช้งานของแฮชแท็ก ใน เฟสบุ๊คนั้น หากเรากดเข้าไปดูแล้ว จะสามารถเห็นคนที่ใช้แท็กเดียวกันทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่า เจ้าของข้อความนั้น จะต้องเซตข้อความนั้นให้เป็นการแสดงแบบสาธารณะ (Public) เท่านั้น แต่ถ้าเลือกแค่เฉพาะเพื่อนเท่านั้น (Friend Only) ก็จะเห็นได้กับเฉพาะเพื่อนของเรา หรือ ผู้ที่ตาม (Follower) ของเราเท่านั้น คนอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อน ไม่ได้ตาม ก็จะไม่เห็น
INSTAGRAM (อินสตราแกรม)
หลักการ เหมือนกับที่กล่าวมาด้านบน แต่จากที่เห็นพบว่า บริการ อินสตราแกรม นี้คนนิยมใช้แฮชแท็ก มากที่สุด แต่ก็ใช้แบบสิ้นเปลืองมากที่สุดเช่นกัน เช่น อัพโหลดรูป โพสรูป ที่ตัวเอง ถ่ายกับแมว ขึ้นไปรูปนึงก็ใส่ข้อความประมาณ
#cat #lovecat #miss #funny #lady #joopjoop
ซึ่งจากที่ดู ไม่มีคำไหนที่ไม่มีแท็กเลย ซึ่งก็จะดูรก และสามารถกดคลิกลิ้งค์เข้าไปได้ทุกอัน แต่ก็มีบางอันที่ดูแล้วไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เช่น #miss #joopjoop และ #lady เป็นต้น

การใช้ Hashtag เยอะๆ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

ข้อดี
  • คนอื่นที่เขามีความสนใจในเรื่องเดียวกัน จะได้มีโอกาสเข้าถึงเราได้มากขึ้น
  • มีโอกาสที่จำนวนผู้ตาม (Follower) เพิ่มมากขึ้น มากกว่าการที่ไม่ใช้แท็กอะไรเลย
  • สำหรับผู้ที่ขายสินค้า หากสินค้าของคุณน่าสนใจพอ จะสามารถช่วย สร้างโอกาสทำการตลาด หรือขายสินค้า ชิ้นนั้นได้ง่ายขึ้น เช่น การขายกระเป๋าแบรนด์เนม อย่าลืมใส่แฮชแท็กยี่ห้อ รุ่น มันลงไปด้วย จะมีโอกาสขายได้ง่ายๆ เลยละ แม้คุณจะมีจำนวนผู้ตามน้อยก็ตาม
  • การใช้ Hashtag ในเครือข่าย Instagram นั้นจะทำให้มีคนติดตามมากขึ้น แต่ไม่ใช่การติดตาม แต่จะช่วยให้จำนวนคนที่กด LIKE รูป มีจำนวนมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าบางคนไม่ได้ตามเรา แต่อาจจะติดตามเฉพาะจากแฮชแท็ก เรื่องที่สนใจก็ได้ เช่น มีชาวต่างชาติที่สนใจการทำอาหารไทย เป็นจำนวนมาก ติดตามแท็กชื่อ #thaifood ถึงแม้จะไม่ได้ติดตามกับเป็นการส่วนตัว แต่ติดตามเฉพาะแท็กได้ด้วยเช่นกัน
ข้อเสีย
  • จะดูเยอะ รก จนเกินไป บางทีคำที่ไม่เกี่ยวข้อง
  • สิ้นเปลืองจำนวนตัวอักษรโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ ที่จำกัดตัวอักษรเอาไว้ ต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า การใช้เจ้าเครื่องหมายสี่เหลี่ยมๆ แฮชแท็ก ตัวนี้ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด มันอยู่ที่ว่า จะนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์กับเรา มากน้อยเพียงใด บางทีการใช้แฮชแท็กที่ถูกทีถูกเวลา สามารถนำพาให้เราดังเป็นพลุแตก หรือ ขายของออนไลน์ ได้ถล่มทลายก็เป็นได้ ส่วนการใช้แฮชแท็กที่มากเกินไป ถึงแม้มันก็ไม่ได้ผิดกฏอะไร แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเท่านั้นเองครับ ขอให้โชคดีทุกๆ ท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น