วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

ระวัง 6 โรคอันตรายหน้าร้อน

คอลัมน์ รู้ทันโรค
เมื่อย่างเข้าสู่หน้าร้อน หลายพื้นที่ก็เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง และมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด หรือพื้นที่สุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะยิ่งทำให้มีการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำดื่มเพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ พบจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,259,408 ราย และเสียชีวิตไป 13 ราย

สำหรับปีนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ออกมาคาดการณ์สถานการณ์การเกิดโรคติดต่อแล้วว่า อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 โรค ได้แก่ 1.โรคอหิวาตกโรค ที่คาดว่า ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่ดี จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3.8 เท่า 2.โรคไทฟอยด์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 19 % หรือประมาณ 2,700-3,300 ราย และ3.โรคไวรัสตับอักเสบ เอ คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 30 % หรือประมาณ 430-520 ราย นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 โรคที่มักเกิดเป็นประจำทุกปี คือ โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจาระร่วงอีกด้วย

ฉบับนี้เราจึงไม่รอช้าที่จะพาไปรู้จักกับทั้ง 6 โรคว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แสดงอาการในลักษณะไหน และที่สำคัญมีวิธีป้องกันและดูแลตัวเองอย่างไร


อหิวาตกโรค cholera 


โรคนี้มักพบการระบาดในฤดูแล้งและการอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัด ซึ่งพบว่าอาการของผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ มีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว อาจมีการอาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ จึงทำให้เกิดภาวะการขาดน้ำและเกลือแร่ ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้อไม่มีแรง ผิวหนังแห้ง ปัสสาวะน้อย เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้น หากพบว่ามีโรคอหิวาตกดรคระบาด ควรดื่มน้ำต้มทุกครั้ง จานและเครื่องใช้ในครัวควรลวกน้ำร้อนก่อนใช้ หากต้องรับประทานผักสด ควรล้างให้สะอาดและแช่ในน้ำที่ผสมสารคลอรีนสามสิบนาที แล้วจึงล้างด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ก่อนปรุงอาหารจะต้องล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

โรคไทฟอยด์ Typhoid 

โรคนี้พบมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า ไข้หัวโกร๋น ส่วนใหญ่จะเป็นกันในฤดูร้อนโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดี ซึ่งอาการของโรคจะมีไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด แต่ไม่มีน้ำมูกไหล บางครั้งอาจมีอาการไอ และเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมาไข้จะค่อย ๆ สูงขึ้น ถึงแม้จะกินยาลดไข้แล้วก็ตาม บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพัก ๆ หรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ ถ้ามีอาการมากกว่า 5 วัน ผู้ป่วยจะดูหน้าซีดเชียว และหากพบว่าเป็นโรคนี้ ควรทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 4-7 วัน หรือในรายที่สงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อน ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที

โรคไวรัสตับอักเสบเอ Hepatitis A

ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการไม่สบายเล็กน้อยนำมาก่อน 1 อาทิตย์ เช่น เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมามีปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง จุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา และมีผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งอาการต่างๆจะทุเลาและหายไปใน 3-4 สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กจะมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการเพียงไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่จะมีอาการเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากผู้ที่อาศัยในบ้านหรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด ผู้อพยพที่อาศัยในที่พักชั่วคราว และผู้ที่เป็นโรคตับ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นดังกล่าว ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และประคับประคองป้องกันการขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และตับวาย ที่สำคัญต้องระวังยาที่มีผลต่อตับ เช่น Paracetamol

โรคบิด


โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อบิด แล้วเข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักเกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการปวดท้อง แบบปวดเบ่งและบิด ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายแต่ละครั้งจำนวนไม่มาก และรู้สึกเหมือนอยากเบ่ง ถ่ายตลอดเวลา แต่ถ่ายไม่ออก ลักษณะอุจจาระเป็นมูก บางครั้งมีเลือดปน บางรายมีอาการไข้ คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งการป้องกันโรคบิดที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ รักษาความสะอาดในการปรุงอาหาร ไม่ใช้ ช้อน แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น กินอาหารสุกใหม่ๆเสมอ และระมัดระวังการกินผักและผลไม้สด โดยต้องล้างให้สะอาดหรือปอกเปลือกผลไม้ก่อนบริโภคเสมอ

โรคอุจจาระร่วง 


โรคนี้จะมีการถ่ายอุจจาระที่มีจำนวนมากกว่าปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก มีอาการ แน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน โดยมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส หากพบว่าป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง มีข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น คือ ให้ทานของเหลวหรือสารน้ำเพิ่มขึ้น เช่น สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส หรือสารละลายเกลือและน้ำตาลที่เตรียมเองโดยผสมเกลือครึ่งช้อนชาและน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม นอกจากนี้ ผู้ป่วย ไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย เพราะกินยาหยุดถ่ายทำให้ลำไส้ต้องเก็บกักเชื้อโรคไว้นานขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

อาหารเป็นพิษ

โรคนี้ติดต่อได้ง่ายจากการกินน้ำที่ไม่สะอาด และการทานอาหารที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานๆ โดยเฉพาะการห่ออาหารไว้อย่างหนาแน่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่อุ่นพอเหมาะ ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน และสร้างสารพิษออกมา ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะมีฤทธิ์ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้องแบบบิดๆ บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สารพิษบางชนิดถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่บางชนิดก็ไม่ สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นบางครั้งแม้จะนำอาหารดังกล่าวมาอุ่นใหม่ก่อน รับประทานอาหาร ก็ยังทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงต้อง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น



ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น