วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

เรื่องควรรู้ในการสัมภาษณ์งาน Job Interview Tips

ทุกองค์กรล้วนต้องการคนดีมีความสามารถ ซื่อสัตย์ และมีคุณสมบัติพิเศษบางประการ ที่เป็นประโยชน์กับการทำงาน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือถ้าหากเป็นตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้าขึ้นไป ก็จะต้องมีศักยภาพด้านการปกครองบังคับบัญชาผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
วิธีการและคำถามในการสัมภาษณ์งานที่จะนำมาเป็นแนวคิดให้กับผู้หางาน ซึ่งจะนำเสนอต่อไป ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงาน แนวคิดนี้มาจากวิธีและคำถามในการสัมภาษณ์งานของบริษัทซัมซุง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จัก บริษัทนี้ซึ่งมีสัญชาติเกาหลี ที่แซงหน้าคู่แข่งจนก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์นำระดับโลก ทั้งที่ประมาณสิบปีก่อนหน้านี้ ซัมซุง ยังเป็นเพียงแบรนด์เล็กๆที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงน้อยนิด จนทำให้คนสงสัยว่าอะไรทำให้ซัมซุงกลายเป็นผู้ชนะในทุกวันนี้

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้นำวิธีและคำถามในการสัมภาษณ์งานของบริษัทซัมซุงมาเป็นข้อคิดของผู้ที่จะเข้ารับการสัมภาษณ์ เพื่อให้มีการเตรียมตัว ทัศนคติในการตอบคำถาม ที่ถูกต้องและถูกใจผู้สัมภาษณ์ จนได้รับการคัดเลือกตามที่ปรารถนา
คำว่า "รู้เขา-รู้เรา" เป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งที่จะทำให้คุณได้รับการคัดเลือก

ผู้สัมภาษณ์มีแนวคิดอย่างไรในการสัมภาษณ์
ผู้หางานที่เข้ารับการสัมภาษณ์ หลายคนมักจะคิดว่าการสัมภาษณ์คือการสอบอย่างหนึ่ง จึงคิดว่าถ้าผ่านการสอบได้ก็จะได้ทำงานในบริษัทนั้น จริงอยู่ที่ด้านหนึ่งของการสัมภาษณ์คือการสอบ แต่ถ้าคิดเพียงแค่นี้โอกาสผิดหวังก็มีมากทีเดียว เพราะคุณไม่รู้ว่าผู้สัมภาษณ์คิดอะไร และคุณควรพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไร จึงจะเข้าตากรรมการ
จริงอยู่ผู้สัมภาษณ์แต่ละคน จะมีเกณฑ์แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้น ความทะเยอทะยานหรือจิตวิญญาณแห่งการท้าทาย ฯลฯ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะมีเกณฑ์อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เพื่อตอบโจทย์ข้อสอบที่จะคัดเลือกคือ
-อันดับแรกจะต้องเป็น "คนน่าเชื่อถือ" เพราะคงไม่มีบริษัทใดต้องการรับคนขี้โกหก แอบอ้างผลงานคนอื่นและไม่ซื่อสัตย์เข้ามาทำงาน ไม่ว่าคนคนนั้น จะเก่งสักแค่ไหนก็ตาม
-อันดับที่สอง คือ "ศักยภาพการทำงาน" บริษัทกับพนักงานเกี่ยวข้องกันด้วยสัญญาเกี่ยวกับแรงงาน จึงต้องดูคนคนนั้นสามารถทำตามสัญญานั้นได้หรือไม่

ดังนั้นหากคุณรู้ถึงจุดมุ่งหมายสำคัญสองประการดังกล่าวของผู้สัมภาษณ์ คุณย่อมตั้งรับได้ถูกต้อง เพราะหากไม่รู้ในเรื่องนี้ อาจจะทำให้คุณไม่ได้รับการคัดเลือกก็ได้
เช่น ถ้าคุณเริ่มคุยโตโอ้อวด เพราะอยากจะโฆษณาจุดแข็งของตนเองแล้วละก็ จะส่งผลร้ายต่อคำถามข้อแรก "คุณเป็นคนน่าเชื่อถือหรือไม่" ยิ่งถ้าคุณคุยถึงเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลด้วยแล้วละก็ ทุกอย่างคือว่า "จบ" 

บางครั้งผู้สัมภาษณ์อาจจะถามว่า "ช่วยบอกข้อเสียของคุณให้เราฟังหน่อย" คำถามนี้ต้องการคำตอบที่พิเศษนิดหน่อย เคยมีผู้เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้เป็นหัวหน้างานบุคคลผู้นี้จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เคยทำงานในบริษัทใหญ่มาเป็นเวลานาน แถมยังเป็นผู้จัดการสาขาในต่างประเทศด้วย จึงมีศักยภาพในการจัดการงานหลายด้าน ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจคนหนึ่งเลยทีเดียว

แต่เมื่อถูกถามว่า "ลองอธิบายข้อเสียของตัวเองหน่อย" เขาตอบว่า "ผมรู้สึกเหนื่อยกับการจัดการลูกน้อง" แม้ว่าคำตอบนี้จะตรงไปตรงมาและไม่มีอะไรซ่อนเร้น แต่ทำให้บริษัทลังเลที่จะเลือกเขา เพราะนี่เป็นการคัดเลือกหัวหน้าทีมงานแต่เขากลับยอมรับว่าการจัดการลูกน้องเป็นเรื่องยาก
ที่จริงคำถามนี้ไม่ได้ให้คุณปิดบังข้อเสียของตัวเองหรอก เพราะหากคนตอบๆว่า "ผมไม่มีข้อเสีย" ก็จะถูกตัดสินว่าไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นการตอบว่าตนมีข้อเสีย และแสดงความสามารถในการลดข้อเสียนั้น และบอกให้รู้ถึงแผนการปรับปรุงตัวเองในอนาคตด้วย
นั่นจะเป็นคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด และบริษัทจะไม่สับสนที่จะเลือกเขามาเป็นพนักงาน
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคำถามจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนมุ่งไปสู่ตัววัด 2 ตัวดังกล่าวข้างต้น คือความน่าเชื่อถือและศักยภาพการทำงานทั้งสิ้น

บริษัทส่วนใหญ่ต้องการรับผู้ที่มีประสบการณ์ในงานมาก่อน มากกว่าผู้ที่จบการศึกษาและยังไม่เคยทำงานมาเลย แต่ถ้าคุณเข้าใจจุดมุ่งหมายของผู้สัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้น คุณย่อมโฆษณาตัวเองให้น่าเชื่อถือและให้มองว่าคุณจะมีศักยภาพในการทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญในการตอบคำถาม หรือการแสดงความคิดเห็น
ผู้สมัครบางคนเคยทำงานมาหลายแห่ง มีประสบการณ์หลากหลายน่าสนใจ แต่เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า "เขาวางแผนอนาคตการทำงานไว้อย่างไร" 

เขาตอบว่า "ถ้าผมตั้งใจทำงาน ผมก็อาจได้เลื่อนตำแหน่ง แต่การจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงเป็นเรื่องยาก ผมคิดว่าจะทำงานไปอีกสักสิบปีแล้วจะลาออกไปทำอะไร"
คำตอบแบบนี้คงยากที่บริษัทจะรับเขาไว้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม แต่ไม่ใช่วิธีการตอบที่กรรมการจะยอมรับได้ ผู้ตอบจึงต้องระมัดระวังคำตอบและความมองในแง่ของบริษัทก่อนจะตอบออกไป

ทุกคำถามไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แต่คุณจะต้องตอบเพื่อโฆษณาตนเองให้เขาเห็นว่า "คุณเป็นคนน่าเชื่อถือหรือไม่" และ "คุณสามารถทำงานได้หรือไม่" 


คำถามที่มักใช้ในการคัดเลือกพนักงาน
 
การรู้แนวคำถามและการหาความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและการดำเนินงานของบริษัท จะทำให้คุณเตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจว่าคุณมีความพร้อม
คำถามเหล่านั้น ได้แก่
1.ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คุณยังศึกษาอยู่หรือตอนที่คุณทำงานในบริษัทก่อนหน้านี้คืออะไร
2.ช่วยแนะนำตัวเองสักหน่อย
3.บอกข้อดีและข้อเสียของตัวเองให้ฟังหน่อย
4.คุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหม
5.ถ้าได้ทำงานในบริษัทนี้ คุณคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้ดี
6.คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง
7.คุณจะทำอะไรให้บริษัทเราได้บ้าง
8.ทำไมบริษัทเราจะต้องรับคุณเข้าทำงาน
9.ช่วยอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับ การตลาด กลยุทธ์ การวางแผน ฯลฯ
10.คนที่คุณถือเป็นแบบอย่างในชีวิตคือใคร
11.คุณเติบโตมาอย่างไร
12.ความสัมพันธ์ในครอบครัวของคุณเป็นอย่างไร
13.ก่อนไปเรียนต่อคุณทำงานอะไร และทำไมจึงตัดสินใจไปเรียนต่อ
14.ถ้ามีลูกน้องที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับองค์กรได้ คุณจะทำอย่างไร
15.ทำไมคุณจึงต้องการทำงานที่บริษัทนี้
16.คุณมีความฝันที่อยากจะทำให้สำเร็จหรือไม่
17.คุณมีความรู้เกี่ยวกับบริษัทและงานที่คุณอาจจะได้ทำหรือไม่
18.คุณต้องการรายได้เท่าไร
19.คุณเคยผ่านงานมาแล้ว ทำไมคุณจึงลาออกจากที่ทำงานแห่งที่สอง
20.ถ้าให้คะแนนตัวเอง คะแนนเต็ม 20 คุณจะให้กีคะแนน
Credit: นิตยสาร งานวันนี้
คอลัมน์ เรื่องควรรู้..คู่คนหางาน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น