วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

SUGAR FREE ....ภัยใกล้ที่ไม่อาจรู้

credit:   ศกลวรรณ จงสงวนดี

เมื่อน้ำตาล กลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงกลัวเป็นอันดับต้นๆ และยังเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆอีกหลายโรค  จึงทำให้ผู้ผลิตใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย (Sucrose) ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้  พร้อมกับระบุบนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า   ปราศจากน้ำตาล หรือ sugar free  เพื่อเป็นเหตุจูงใจทางการค้า... แต่จะมีซักกี่คนที่จะรู้ถึงผลข้างเคียงของมัน... 

 
คำเตือนบนฉลากอาหาร ?

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่า  ข้อความที่ระบุอยู่บนฉลากอาหาร เช่น หมากฝรั่ง  ทั้งของในประเทศไทยและต่างประเทศ   มักจะมีคำเตือนต่างๆ เช่น  ไม่ทำให้ฟันผุ หรือDOES NOT CAUSE TOOTH DECAY , ผู้มีภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย (PHENYLKETONURIA) ผลิตภัณฑ์นี้มีฟีนิลอลานีน (PHENYLALANINE) ,   UNE CONSOMMATION EXCESSIVE PEUT AVOIR DES EFFETS LAXATIFS (หากบริโภคในปริมาณมากอาจมีผลทำให้เกิดการระบายท้อง)ไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก และ ไม่ควรให้เด็กรับประทาน เป็นต้น  ซึ่งข้อความต่างๆเหล่านี้  มักระบุเตือนในฉลากที่ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นส่วนประกอบของอาหาร  ซึ่งบางข้อความจะถูกบังคับทางกฎหมาย ให้ต้องระบุอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักสนใจแต่ยี่ห้อของสินค้าบนฉลากอาหาร และเพิกเฉยต่อคำเตือนต่างๆที่ระบุบนฉลากอาหาร  โดยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน และไม่ก่อเกิดอันตรายร้ายแรงกับร่างกาย   เลยทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ในทางด้านที่ดีเท่านั้น และขาดความระมัดระวังในการบริโภค ซึ่งอาจเกิดผลเสียแก่ร่างกายได้

วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลคืออะไร ?

การใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เป็นทางสายกลางสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงน้ำตาลทราย(ซูโครส) แต่ยังต้องการบริโภคอาหารหวาน  และกำลังเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร( เช่น ลูกอมลูกกวาด คุ๊กกี้ หมากฝรั่ง เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ) และ เภสัชกรรม  รวมถึงการแบ่งบรรจุขายเฉพาะสารประเภทนี้ตามท้องตลาด

วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมใส่ในอาหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โพลีออลล์ (Polyols)  และ สารสังเคราะห์ให้ความหวาน (artificial sweeteners)  ดังนี้

1)      โพลีออลล์ (Polyols)
คือ น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol) หรือ โพลีไฮดริกแอลกอฮอล์ (Polyhydric alcohol )
จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลซูโครส   เพราะ การดูดซึมสารกลุ่มนี้ในร่างกายจะช้ากว่าน้ำตาล ทำให้ส่วนใหญ่ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายก่อนที่จะดูดซึมเข้าไปใช้ประ โยชน์ในร่างกาย ( ฉวีวรรณ จิตยพันธกุล,2540 ) 
ตัวอย่างชนิดของโพลีออลล์ (Polyols)  ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร  ได้แก่
ซอร์บิทอล (Sorbitol)  พบได้ตามธรรมชาติในผัก และผลไม้ หรืออาจผลิตจากน้ำตาลข้าวโพด (corn syrup)  ให้ความหวานประมาณ 50-60% ของน้ำตาลซูโครส  นิยมใช้ในลูกอมลูกกวาด หมากฝรั่ง  แต่ไม่ควรบริโภคเกิน30 กรัม ในแต่ละครั้ง
ไซลิทอล (Xylitol)  พบได้ตามธรรมชาติในพืช ผัก ผลไม้  ฟาง  ธัญพืช และเห็ด หรืออาจผลิตได้จากต้นเบิร์ช ให้ความหวานเท่ากับน้ำตาลซูโครส และรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลซูโครส อีกทั้งราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ในอาหารประเภทหมากฝรั่ง เป็นต้น ไม่ควรบริโภคเกิน20-35 กรัม ในแต่ละครั้ง
แมนนิทอล (Mannitol) พบได้ตามธรรมชาติในสับปะรด  หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่งหวาน และแครอท ให้ความหวานประมาณ50-70% ของน้ำตาลซูโครส  
ไอโซมอลท์ (Isomalt) ให้ความหวานประมาณ 45-65% ของน้ำตาลซูโครส และทนความร้อนได้ นิยมใช้ในลูกอมลูกกวาด และหมากฝรั่ง    
แลคติตอล (Lactitolให้ความหวานประมาณ 30-40% ของน้ำตาลซูโครส มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาลซูโครส นิยมใช้ในอาหารประเภทไอศกรีม ช็อคโกแล็ต ลูกอม ขนมอบ และหมากฝรั่ง
มาลติตอล (Maltitolให้ความหวานประมาณ 75% ของน้ำตาลซูโครส นิยมใช้ในอาหารประเภทลูกอมลูกกวาด หมากฝรั่ง และช็อคโกแลต
ประโยชน์ของโพลีออลล์ (Polyols)  !
การใช้โพลีออลล์ แทนน้ำตาลทรายนั้น มีข้อดีมากมาย เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้รับแคลอรี่ต่ำแล้ว ยังไม่ทำให้ฟันผุอีกด้วย เพราะแบคที่เรียในช่องปาก ไม่สามารถย่อยสลายโพลีออลล์ เป็นอาหารได้ ทำให้ลดปัญหาการเกิดคราบฟัน รวมถึงช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุ โดยจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย ทำให้ลดสภาวะความเป็นกรดในช่องปาก และเป็นสื่อกลางในการน้ำแร่ธาตุที่มีประโยชน์มาหล่อเลี้ยงฟันอีกด้วย  อีกทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพของอาหารให้ดีขึ้น เช่น ไม่เกิดสีน้ำตาลในขนมอบ (no Maillard reaction  มีความสามารถในการอุ้มน้ำ  ช่วยรักษาความชื้นในอาหาร ทำให้มีอายุการเก็บรักษา(shelf life)นานขึ้น  เพิ่มความหนืดให้กับอาหาร  และช่วยให้อาหารมีการละลายดีขึ้น เป็นต้น จึงเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการแบ่งบรรจุขายโพลีออลล์ ตามท้องตลาด  สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่มีอินซูลินต่ำสามารถบริโภคโพลีออลล์ได้  เพราะร่างกายจะใช้อินชูลินในการย่อยสลาย น้อย 
ระวัง ! ผลข้างเคียงของโพลีออลล์  
มีผลกระทบต่อร่างกาย คือโพลีออลล์จะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (laxative effect) เกิดแก๊ส ทำให้ท้องอืด เมื่อบริโภคสารกลุ่มนี้ในปริมาณมากต่อครั้งจะทำให้ท้องเสียได้   
2)    สารสังเคราะห์ให้ความหวาน (artificial sweeteners
เป็นสารสังเคราะห์ที่ไม่ใช่คาร์โบไฮเดรต และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการหรือมีน้อยมาก สารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครส 200 – 300 เท่า  เรียกสารในกลุ่มนี้ว่า  วัตถุที่ให้ความหวานจัด  หรือน้ำตาลเทียม   ตัวอย่างเช่น
                แซ็กคาริน (Saccharin) หรือขันฑสกร  มีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครส 300 เท่า  แต่ ถูกทำลายได้ที่อุณหภูมิสูง
                ระวังผลข้างเคียง  ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลยืนยันถึงอันตรายที่เกิดในคน แต่มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าเมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมาก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ  ในบางรายอาจมีอาการแพ้ เช่น  คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่นแดง และอาจมีอาการชักได้ เป็นต้น                    
อะซีซัลเฟม เค  (Acesulfame  K) หรือ Acesulfame Potassium มีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 200 เท่า
                                ระวังผลข้างเคียง อะซีซัลเฟม เค  จะช่วยกระตุ้นการหลังอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ( hypoglycemia)  ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงอันตรายที่เกิดในคน
แอสปาร์เทม (Aspartame)   มีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 200 เท่า  จัดเป็นสารประเภทโปรตีน ที่ให้พลังงาน กิโลแคลอรีต่อกรัม แต่เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยก็มีความหวานมาก  จึงทำให้ได้รับแคลอรี่น้อยมาก และถูกทำลายได้ที่อุณหภูมิสูง
                ระวังผลข้างเคียง  แอสปาร์เทมเป็นสารที่กำลังนิยมใช้มากในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดอันตรายในคน แต่เนื่องจากมีกรดอะมิโนจำเป็น ชื่อ ฟินิลอลานีน (phenylalanine) เป็นส่วนประกอบ จึงถูกห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า "ฟีนิลคีโตนูเรีย" (Phenylketonuria - PKU) เพราะโรคนี้ร่างกายไม่สามารกสร้างเอนไซม์ phenylalanine hydroxylase ที่จะใช้และกำจัด ฟินิลอลานีนได้   ทำให้ร่างกายเปลี่ยนฟินิลอลานีนไปเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสมอง แต่โรคนี้มักตรวจพบตั้งแต่วัยเด็ก
                ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เนื่องจากเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต ยังต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และหากบริโภคในปริมาณที่มาก จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าในผู้ใหญ่อีกด้วย
วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เมื่อมีการใช้ร่วมกันหลายชนิดอาจเกิดการเสริมฤทธิ์กัน เช่น สารผสมระหว่างอะซีซัลเฟม เค และแอสปาร์แตม  ทำให้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 300 เท่า  เป็นต้น สามารถสังเกตชนิดของวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลได้จากฉลากอาหาร  ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลาย และมีการคิดค้นชนิดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น  ผู้บริโภคควรระวังถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อร่างกายอยู่   จึงอยากชักชวนให้ท่านผู้อ่านสนใจข้อความที่ระบุบนฉลากบรรจุภัณฑ์  เพื่อช่วยเตือนถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดกับร่างกายของท่าน  เพราะการบริโภคอะไรก็ตามในปริมาณที่มากเกินไป มักส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเสมอ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น