วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อีโคคาร์ VS ไฮบริด ใครประหยัดกว่ากัน



BLOGGER LINGOTHAILAND



อีโคคาร์ VS ไฮบริด ใครประหยัดกว่ากัน?

-เทียบ 2 เทคโนโลยีจิบน้ำมันโลกยานยนต์

-ไฮบริดนอนมาเรื่องความประหยัดและคุ้มค่า 

-ส่วนอีโคคาร์ประหยัดน้อยกว่าแต่ราคาดีกว่า

-จับตา ฟิต/แจ๊ซ ไฮบริดราคาถูกจากฮอนด้า



ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาน้ำมันในยุคปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความกังวลและเริ่มมองหารถยนต์ที่มีความประหยัด หรือไม่ก็รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกกันมากขึ้น สำหรับบ้านเรา นอกจาก Eco Car แล้ว อีกทางเลือกเมื่อพูดถึงความประหยัดน้ำมันก็คือ รถยนต์ไฮบริด ซึ่งในตอนนี้มีเพียงค่ายโตโยต้าเท่านั้นที่ทำตลาดอย่างจริงจังด้วย 2 ทางเลือก นั่นคือ คัมรี่ และพริอุส

แน่นอนว่าแม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือ พุ่งตรงไปที่การให้ความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ดูเหมือนว่าการเดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นแตกต่างกัน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าระบบไฮบริดถือเป็นของใหม่ที่เพิ่งเริ่มวางขายในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในโลกยานยนต์เมื่อปี 1997 โดยเป็นการผสมผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า

ขณะที่ Eco Car คือ การพัฒนาตัวรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปภายในให้มีความประหยัด โดยอยู่ภายใต้กรอบและข้อกำหนดของทางภาครัฐ ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า รถยนต์ที่จะได้รับการเก็บภาษีในกลุ่ม Eco Car จะต้องมีความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตร…เรียกว่าค่อนข้างหรูเลยทีเดียวสำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยเสริม

ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันในเชิงตัดสินว่าท้ายที่สุดแล้วรถยนต์แบบไหนระหว่างไฮบริดกับ Eco Car จะมีความประหยัดมากกว่ากัน โดยที่ไม่ต้องใช้เรื่องของราคาและขนาดของตัวรถมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณา

คำตอบที่ได้คือ รถยนต์ไฮบริด อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะรถยนต์ประเภทนี้จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเสริมการทำงานทั้งในรอบต่ำ และรอบปานกลางเพื่อเสริมพลังในการขับเคลื่อนให้กับเครื่องยนต์ อีกทั้งยังมีระบบ Auto Start/Stop ซึ่งจะดับเครื่องยนต์เองอัตโนมัติเมื่อมีการจอดติดอยู่กับที่ เท่ากับว่าเวลาที่ต้องเผชิญกับรถยนต์ติดๆ อย่างการขับช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งรถยนต์จะจอดมากกว่าเคลื่อนที่ ตัวรถจะมีการใช้น้ำมันน้อยมาก อีกทั้งยังลดการคายไอเสียออกมาอีกด้วย

โตโยต้า พริอุส ไฮบริด

นอกจากนั้น ตัวเครื่องยนต์เองก็ยังได้รับการออกแบบระบบการเผาไหม้ภายใต้รูปแบบที่เน้นไปในทางเอื้อประโยชน์ในแง่ของความประหยัด อย่างเครื่องยนต์ปรกติเราจะใช้รูปแบบการเผาไหม้ที่เรียกว่า Otto Cycle แต่สำหรับรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าเองจะใช้ระบบการเผาไหม้แบบ Atkinson Cycle ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ประหยัดน้ำมัน แต่มีข้อด้อยตรงที่ไม่มีกำลังในช่วงรอบต้นๆ แต่ตรงนี้ก็มีการนำมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาอุดจุดอ่อน

ที่เหนือไปกว่านั้น ในระบบไฮบริดที่มีความทันสมัยอย่าง HSD หรือ Hybrid Synergy Drive ของโตโยต้า ตัวรถยนต์ยังสามารถขับเคลื่อนโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือมี EV Mode ให้เลือกใช้ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาหรือระยะทางสั้นๆ แต่ก็ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

อธิบายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เห็นภาพ เราลองมาดูตัวเลขอ้างอิงที่ทางผู้ผลิตรถยนต์ใช้ในการประชาสัมพันธ์ดูก็แล้วกัน ซึ่งขอยกตัวอย่างของฮอนด้า ฟิต/แจ๊ซ รุ่นปัจจุบันที่ขายอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งจากข้อมูลของฮอนด้าในรุ่นประหยัดที่ใช้เครื่องยนต์ 1,300 ซีซี.แถมด้วยเกียร์ CVT ด้วย ตัวเลขที่ได้จากการทดสอบตามโหมด 10-15 ของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 24.5 กิโลเมตรต่อลิตร แต่พอเป็นรุ่นไฮบริดแล้ว ตัวเลขขยับขึ้นมาเป็น 30 กิโลเมตรต่อลิตร

ขณะที่นิสสัน มาร์ช ซึ่งเป็น 1 ใน 2 Eco Car ที่มีขายอยู่ในบ้านเรา และใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ 1,200 ซีซี.ในการขับเคลื่อน จะพบว่า ตัวเลขที่ดีที่สุดของมาร์ชจากการทดสอบของญี่ปุ่นตามข้อกำหนดของ 10-15 จะมีตัวเลขอยู่ที่ 26 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้น

แน่นอนว่าเพียงเห็นแค่ความสามารถของระบบแล้วก็พอจะบอกได้แทบจะในทันทีว่า ถ้าเป็นรถยนต์ที่อยู่ในคลาสใกล้เคียงกัน ยังไงรถยนต์ไฮบริดก็เหนือกว่าในเรื่องของความประหยัดน้ำมันและการคายไอเสีย แต่ที่ด้อยกว่าเห็นจะเป็นเรื่องของราคาขาย เพราะยังไง ราคาก็ยังแพงกว่า

แต่สำหรับอนาคตไม่แน่ เพราะอย่างฮอนด้า ฟิต/แจ๊ซ ไฮบริดรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในญี่ปุ่น ฮอนด้าสามารถพัฒนาให้มีราคาอยู่ในช่วงแทรกกลางระหว่างรุ่นพื้นฐานกับรุ่นท็อปที่เป็นเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี.ได้เลย

ฉะนั้น ในอนาคตข้างหน้าจึงไม่จำเป็นเสมอไปว่ารถยนต์ไฮบริดจะต้องมีราคาแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอีกต่อไป

ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด

ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด
ประหยัดสุดๆ 30 กม./ลิตร

ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด เปิดตัวครั้งแรกในงาน ปารีส มอเตอร์โชว์ 2010 ส่วนที่เห็นอยู่นี้คือ ของจริงสำหรับขาย ซึ่งฮอนด้าจัดการส่งฟิต ไฮบริดลงขายในตลาดบ้านตัวเองแล้ว

ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด แชร์พื้นฐานเดียวกับรุ่นอินไซต์ ขณะที่รหัสตัวถังจะถูกเปลี่ยนจาก GE ในรุ่นปรกติมาเป็น GP โดยตัวเครื่องยนต์เป็นเทคโนโลยี IMA หรือ Integrated Motor Assist ในรหัส LDA-MF6 ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ SOHC i-VTEC แบบ 16 วาล์ว 1,300 ซีซี. เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

มีกำลังสูงสุด 88 แรงม้า ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยในการขับเคลื่อนขนาด 14 แรงม้า ที่ 1,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.0 กก.-ม. ที่ 1,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT ซึ่งมีการปรับอัตราทดแตกต่างจากรุ่นธรรมดา

หน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่แตกต่างจากระบบ IMA ทั่วไป คือ เน้นช่วยขับเคลื่อนในจังหวะที่ต้องการพลังหรือกำลังเป็นพิเศษ เช่น การเร่งแซง และเปลี่ยนหน้าที่ชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อมีการถอนคันเร่ง หรือเบรก รวมถึงมีระบบ Auto Start/Stop ดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อจอดติดอยู่กับที่

สำหรับความประหยัดน้ำมันถ้าเป็นรุ่นธรรมดาจะอยู่ที่ 16.4-24 กิโลเมตรต่อลิตรสำหรับการทดสอบตามโหมด 10-15 แต่ถ้าเป็นโหมดใหม่ JC-08 ตัวเลขจะอยู่ที่ 15.2-20.6 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนรุ่นไฮบริดอยู่ที่ 30.0 และ 26.0 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ ถือว่าประหยัดสุดเลยก็ว่าได้

ส่วนราคาขายนั้น ในรุ่นปรับโฉมของฟิตที่ขายในญี่ปุ่นจะมีราคาสำหรับรุ่นธรรมดาอยู่ที่ 1.23-1.68 ล้านเยน หรือ 440,000-604,000 บาท ส่วนรุ่นไฮบริดอยู่ที่ 1.59-2.1 ล้านเยน หรือ 570,000-756,000 บาท ส่วนบ้านเราแว่วๆ ว่าฮอนด้าก็เตรียมตัวจะนำมาเปิดตลาดเช่นเดียวกัน คาดว่าคงไม่นานเกินรอ

ที่มา http://www.wiseknow.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-VS-%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%94-%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น