วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง...อยู่ในลำไส้ ไม่ได้อยู่ในความคิด

    อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง...อยู่ในลำไส้ ไม่ได้อยู่ในความคิด



    www.vcharkarn.com/varticle/505766


  
        อาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรืออาการปวดกล้ามเนื้อเหตุจากสมองและไขสันหลังอักเสบที่เรียกย่อ ๆ ว่า CFS / ME คือโรคที่มีอาการอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ แต่ก็มีหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายถึงสาเหตุ เช่น อาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย หรืออาจจะเกิดจากภาวะจิตใจ ที่เกิดความตึงเครียด แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาให้หายขาดได้ อาการแรกเริ่มของโรคคือ อ่อนเพลีย มีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือข้อต่อโดยไม่มีการอักเสบ คือ บวม แดง หรือ ร้อน เจ็บคอ ปวดหัว นอนหลับไม่สนิท นอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น หรือมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการของระบบโรคทางเดินอาหาร รวมถึงลำไส้แปรปรวน ท้องอืด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก และอาการไม่รุนแรง สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด
        แต่มีข่าวที่น่ายินดี เมื่อคณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า พวกเขาสามารถระบุ ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (Biological markers) ของโรคนี้ในแบคทีเรียในลำไส้และจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในเลือด โดยงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Microbiome เมื่อวันที่ 23 เดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งในงานวิจัยได้อธิบายถึงวิธีการวินิจฉัย โรค CFS / ME ใน คนไข้โดยการตรวจจากอุจจาระและเลือดซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจในสาเหตุของโรคมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า “งานของเราแสดงให้เห็นว่า แบคทีเรียในลำไส้ของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรค CFS / ME ไม่ใช่แบคทีเรียชนิดปกติ ทำให้อาจจะนำไปสู่อาการทางระบบทางเดินอาหารและการอักเสบในคนไข้ นอกจากนี้ การตรวจสอบของความผิดปกติทางชีวภาพนี้นำไปสู่การค้นพบหลักฐานที่ขัดแย้งกลับคอนเซ็ปที่ว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตวิทยา” และหนึ่งในผู้เขียน ได้สรุปว่า ในอนาคตเราอาจจะสามารถรักษาโรค CFS / ME ด้วยการปรับเปลี่ยนอาการการกิน, การใช้พรีไบโอติก (prepiotic) (คืออาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อย และไม่ถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร ทั้งกระเพาะและลำไส้เล็ก แต่จะถูกย่อยด้วยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้ช่วยกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โปรไบโอติก) เช่น น้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่ มอลติทอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล เป็นต้น หรือ พอลิแซ็กคาไรด์ เช่น เพคติน เซลลูโลส กัวกัม บีตากลูแคน เป็นต้น ซึ่งอาจจะสามารถรักษาโรคนี้ได้”
        นอกจากนี้ในงานวิจัยยังค้นพบว่า เมื่อเปรียบเทียบอุจจาระและเลือดของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรค CFS / ME กับคนปกติที่มีสุขภาพดี ผลพบว่า ในอุจจาระของคนไข้พบชนิดของจุลินทรีย์ที่แตกต่างจากคนปกติ โดยพบว่า ความหลากหลายของเชื้อจุลินทรีย์ลดลง โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติสังเคราะห์สารต้านการอักเสบมีปริมาณลดลงมากเช่นเดียวกับอุจจาระของผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้ และในขณะเดียวกันยังพบอาการอักเสบในกระแสเลือดเนื่องจากการรั่วของผนังลำไส้ทำให้แบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งแบคทีเรียที่เข้าไปในกระแสเลือดจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดอาการของโรคอย่างอื่นที่แย่ลงตามมา
        อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้เรายังไม่สามารถฟันธง ได้ว่า สาเหตุการเกิดโรค CFS / ME เกิดจากการผิดปกติของชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือเพราะป่วยเป็นโรค CFS / ME จึงทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ผิดปกติกันแน่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราทราบเบื้องต้นว่า อาการล้า หรือ อ่อนเพลียเรื้อรังเกี่ยวข้องกับลำไส้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจแต่อย่างใด สุดท้ายเมื่อพูดถึงสุขภาพ การออกกำลังกายย่อมเป็นสิ่งที่ถูกแนะนำเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างร่างกายให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัย
แหล่งอ้างอิง :
   1. https://www.sciencedaily.com/releases/2016/06/160627160939.htm
   2. https://www.bupa.co.th/th/corporate/health-wellbeing/detail.aspx?tid=81#.V4dGzGh942w
   3. http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0781/prebiotic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น