หลักสูตร สถาบันสอนภาษา Lingo

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

บันทึกอาเซียน : English-Speaking Year 2012








บันทึกอาเซียน : English-Speaking 

Year 2012


พร้อมร่วมมือกันเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ ให้ทัดเทียม นานาประเทศ
บทความนี้ ว่าด้วย ปีแห่งการใช้ภาษาอังกฤษในโรงเรียน
เป็นเรื่องดี น่าชื่นชมยกย่องและต้องสนับสนุน

ASEAN Diary : 2555 : ปีแห่งการใช้ภาษาอังกฤษในโรงเรียน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2554 ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการะทรวงศึกษาธิการ. วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ประกาศโครงการ “English-Speaking Year 2012” (ไม่มีคำแปลเป็นทางการ แต่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “2555 : ปีแห่งการใช้ภาษาอังกฤษในโรงเรียน”) เป้าประสงค์ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็ก เยาวชน ครู และบุคคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งหลาย เพื่อการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ซึ่งกำหนดปี 2015 เป็นปีบรรลุเป้าหมายในการสร้าง “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) หรืออาจจะเรียกว่าเป็นปีเกิดอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียนก็ได้
รัฐมนตรีศึกษาธิการอธิบายกิจกรรมปี “English-Speaking Year 2012” ซึ่งจะประกาศเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 โดยสรุปดังนี้ :
1. ส่งเสริมให้โรงเรียนทั้งหมดกว่า 30,000 โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ภาษา อังกฤษสื่อสารกันมากขึ้น โดยเบื้องต้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน
2. ในวันที่กำหนด ให้ครูและนักเรียนใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดมุมภาษาอังกฤษ หรือหมู่บ้านภาษาอังกฤษในห้องเรียน การฝึกให้นักเรียนฝึกเป็นมัคคุเทศก์
3. ให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับครูและบุคคลากรทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย (1) สำนักงานการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, (2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, (3) สำนักงานงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน           
4. ทำกิจกรรมร่วมกับสถานทูต องค์กรต่างประเทศ สถาบันสอนภาษาอังกฤษ สมาคมนักเรียนเก่าต่างประเทศ และโรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ
5. สร้างแรงจูงใจให้โรงเรียน เช่นให้รางวัลไปท่องเที่ยวดูงานในอาเซียน           
6. จะเริ่มทำตามโครงการในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อนแล้วทยอยทำไปเรื่อยๆตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียน
นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการตามที่ประกาศโดยสรุปนี้คงจะมีแผนงานโดยละเอียดในภาคปฏิบัติต่อไปในปี 2555 ณ เวลานี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่ดี น่าชื่นชม และสอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศชาติที่จะต้องเตรียมพลเมืองไทยให้พร้อมเข้าร่วมในประชาคมอาเซียน ปี 2015/2555 ซึ่งกำลังจะมาถึงอีกไม่นาน
จากข้อมูลพื้นฐานเท่าที่รัฐมนตรีศึกษาธิการประกาศในภาพรวมโดยยังไม่มีรายละเอียด ขอตั้งข้อสังเกตุผสมความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ :
คุณภาพของภาษาอังกฤษต้องได้มากกว่าการพูดคุยสื่อสารตามธรรมดา แต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอย่างถูกหลักภาษา ส่วนสำเนียงภาษานั้นให้เป็นไปตามธรรมชาติของเราชาวไทย ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของคนทั้งโลก สำเนียงภาษาและการออกเสียง ตลอดจนศัพท์แสลงต่างๆย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปตามบริบทท้องถิ่นของสังคมและวัฒนธรรมไทย ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยนั้นหากพูดอย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และออกเสียงถูกต้องตามรากศัพท์เดิมแต่มีสีสันของสำเนียงไทย ก็จะมีความงดงามน่ารักแบบไทย ซึ่งอาจเรียกภาษาอังกฤษสำเนียงไทยว่า “Tinglish”  ทำนองเดียวกันกับ “Singlish” ที่หมายถึงภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์
ประโยชน์ของการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี คือการมีโอกาสในการค้นคว้าหาความรู้จากต้นตำราภาษาอังกฤษได้มากขึ้น นอกเหนือจากการอ่านหาความรู้ความบันเทิงจากเครือข่าย Internet ได้สะดวกขึ้นและเด็กๆจะได้ความรู้มากขึ้นด้วยการค้นคว้าด้วยตัวเองแล้ว ภาษาอังกฤษยังจะทำให้เด็กๆเข้าถึงงานวรรณกรรมสำคัญของโลกที่เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นวรณกรรมอมตะที่เรียกว่า Classics Literature หรือจะเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่เรียกว่า Contemporary Writing เป็นการเปิดขอบฟ้าใหม่ที่กว้างกว่าเดิมจนเกือบไม่มีขอบเขตจำกัด เข้าไปสู่โลกที่เป็นสากล ทั้งงานนวนิยายและสารคดี ตลอดจนตำราเรียนสารพัดวิชาทุกระดับชั้น
การใช้ภาษาอังกฤษได้ดีและใช้มากขึ้นมิได้หมายความว่าจะเป็นการลดความสำคัญของภาษาไทย ในทางกลับกัน กระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดกระบวนการเรียนการสอนและการศึกษาทั้งระบบโดยเน้นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษไทยแบบครบวงจรด้วย ทั้งการอ่าน การฟัง การคิด การพูด การเขียน รวมถึงการประพันธ์งานวรรณกรรมร่วมสมัยให้งดงามสุนทรีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย  ในปัจจุบันพบว่าคุณภาพและทักษะภาษาไทยของคนไทยลดลงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในครอบครัว สถาบันการศึกษาและในสื่อสารมวลชนสาธารณะ ดังนั้นการเร่งรัดปรับปรุงการใช้ภาษาไทยให้ได้มาตรฐานเป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งกว่าภาษาอังกฤษด้วยซ้ำไป
การประกาศนโยบายพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในโรงเรียนเป็นคนละเรื่องกับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย และการอนุรักษ์วิธีชีวิตวัฒนธรรมไทย ภาษาอังกฤษไม่ทำลายภาษาไทยและไม่กัดกร่อนวัฒนธรรมไทย เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อความเจริญของผู้คนและสังคมในด้านการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในชีวิต วัฒนธรรมไทยอาจถูกกัดกร่อนได้ด้วยวิธีคิดและการ กระทำของแต่ละคนซึ่งอาจได้รับแนวคิดแปลก-ใหม่-ดี-เลว มาจากภาษาใดก็ได้ ; การอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง และการเดินทางท่องเที่ยวที่ผิดทิศทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะผ่านภาษาสื่อสารอะไร ก็สามารถทำลายวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมได้ ; การไม่อ่านวรรณคดีไทยก็อาจทำลายความผูกโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยในอดีตได้ในเวลาไม่นาน ; การอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่งดงามและผูกโยงกับวัฒนธรรมไทยก็สามารถสร้างความรักความชื่นชมในวัฒนธรรมไทยได้ (เช่นเรื่อง Anna and the King of Siam, The King and I, The Apple Cart, The King of Thailand in World Focus, Tito, A Man Called Intrepid, The Animal Farm, 1984, Small is Beautiful, etc.); การดูภาพยนตร์จาก Hollywood บางเรื่องก็สามารถส่งผลให้รักหรือเข้าใจเมืองไทยมากยิ่งขึ้นได้ (เช่นเรื่อง Around the World in 80 Days, The King and I, The Bridge on the River Kwai, Good Morning Vietnam, Bridget Jones Diary, etc.) ดังนั้นการเร่งรัดพัฒนาทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษต้องทำคู่ขนานพร้อมๆกันไป ไม่จำเป็นต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหยุดอย่างใดอย่างหนึ่ง
การเรียนรู้เพื่อใช้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องง่าย ที่จริงโดยธรรมชาติของมนุษย์การเรียนรู้ภาษาต่างๆเป็นเรื่องง่ายตามธรรมชาติ หากเริ่มในวัยเด็กก็ยิ่งง่ายใกล้ธรรมชาติของเด็กกับการเรียนรู้ภาษามากขึ้น สำหรับผู้ใหญ่อาจจะดูเหมือนยากเพราะชักช้ากว่าเท่านั้นเอง ภาษาเป็นเรื่องการฝึกฝนทักษะและเป็นการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ทุกคนทำได้ ถ้าต้องการทำ ในแต่ละครอบครัวสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ใหญ่แล้วหากไม่คิดจะพัฒนาทักษะภาษาของตนเองก็เป็นเสรีภาพของแต่ละคนที่เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่สำหรับลูกหลานนั้นไม่มีทางเลือกหรือทางเลี่ยงใด ลูกหลานทุกคนที่เรียกว่า “เยาวชน คนรุ่นใหม่” จำต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการเข้าสู่สังคมใหม่แห่งประชาคมอาเซียน เด็กและเยาวชนในอีก 9 ประเทศในอาเซียนจะมีทักษะภาษาไม่แพ้กัน หากลูกหลานของเราชาวไทยด้อยทักษะภาษากว่าเด็กชาติอื่นก็เป็นอันจบอนาคตอันรุ่งเรืองก้าวหน้าเพราะเราเริ่มแข่งขันในจุดที่ตามหลังเด็กคนอื่นแต่แรกเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองและปู่ย่าตายายต้องสนับสนุนส่งเสริมลูกหลานของตนให้เท่าเทียมกับลูกหลานชาวบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม เพราะภาษาอังกฤษเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน จากนั้นก็เป็นการแข่งกันด้วยความรู้ความสามารถที่อาศัยภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือค้นหาและสร้างสรรค์ชีวิตให้มีความหลากหลายได้
ภาษาอื่นในอาเซียนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ถือเป็นภาษาที่สามนอกเหนือจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะการเรียนรู้ภาษาอื่น เช่นภาษาอินโดนีเซีย ภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาลาว ภาษาแขมร์ ภาษาฟิลิปปิโน ฯลฯ จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับลูกหลานเรามากขึ้นในการเดินทางข้ามพรมแดนไปสู่ตลาดแรงงานเสรีในอาเซียนอย่างมั่นใจ อาเซียนส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนสอนภาษาของชาติสมาชิกอาเซียนเป็นภาษาที่สามอย่างน้อยหนึ่งภาษา
กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบาย “English-Speaking Year 2012” เน้นเฉพาะโรงเรียน ไม่ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่จะบริหารจัดการกันเอง จึงเป็นหน้าที่ของทุกมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่จะต้องมี นโยบายเช่นเดียวกับระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยมีภาระกิจเร่งด่วนยิ่งกว่าโรงเรียนมากนัก เพราะนักศึกษาทั้งหลายกำลังจะเรียนจบภายใน 1-4 ปี จากนั้นก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในเขตการค้าเสรีของอาเซียน เวลา 1-4 ปีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้ที่กำลังจะเป็นบัณฑิตในแต่ละปีจะต้องพร้อมที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือหางานที่ดีทำทันที เพราะตลาดแรงงานในประเทศไทยจะเปิดรับหนุ่มสาวจากอาเซียนอีก 9 ประเทศ เท่าๆกับที่ในอีก 9 ประเทศจะเปิดรับหนุ่มสาวไทยเข้าสู่การแข่งขันกันหางานทำในประเทศนั้นๆเหมือนกัน อนาคตของหนุ่มสาวไทยจะสดใสหรือมืดมัวก็ขึ้นอยู่กับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานเรื่องหนึ่ง (แต่ไม่ใช่เรื่องเดียว)
สำหรับประเทศไทยโดยรวมที่กว้างกว่าโรงเรียน 30,000 แห่งมากนัก รัฐบาลควรมีนโยบายคล้ายกันกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ขยายวงกว้างให้ครอบคลุมพลเมืองไทยทั้งประเทศ ทุกอาชีพ ทุกเพศวัย ทุกความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม รัฐบาลต้องมีนโยบายเร่งด่วน สร้างคุณภาพพลเมืองทั้งประเทศให้มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานและสังคมวัฒนธรรมอาเซียนได้เช่นเดียวกันกับเด็กนักเรียนและนักศึกษา ประชาชนพลเมืองทุกคนต้องเริ่มเร่งรัดเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มสีสันทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับชีวิตตน ส่วนที่ต้องไปหางานทำในประเทศอื่นในอาเซียนก็ยิ่งจะต้องพัฒนาภาษาอังกฤษและภาษาอื่นให้พร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันแรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศต้องพัฒนาทักษะภาษามากขึ้นกว่าเดิม เพราะการแข่งขันในตลาดแรงงานจะสูงขึ้นมากกว่าเดิม แรงงานจากพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จะพัฒนาคุณภาพและทักษะภาษาเข้าแข่งขันในตลาดแรงงานอาเซียนมากขึ้นแน่นอนใน 4-5 ปีข้างหน้า
รัฐบาลจึงควรกำหนดเรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนอื่นให้เป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ โดยอาจประกาศให้ช่วงปี 2012-2022 เป็น “ทศวรรษแห่งการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนอื่น”  หรือ  “2012-2022: Decade for Language Learning” โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้นำประเทศทุกระดับ ทุกแขนง มีทักษะการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนอื่นอีกหนึ่งภาษาเป็นอย่างน้อย ทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ข้าราชการทั้งระบบ นักธุรกิจทุกสาขาและทุกระดับ ทุกคนในกลุ่มผู้นำสังคมควรจะต้องมีความมั่นใจในการใช้ภาษาให้รอบด้าน
ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของแนวคิดในการพัฒนาทักษะทางภาษา เพื่อพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทยสู่การเป็นส่วนของประชาคมอาเซียนและสู่การเป็นพลเมืองของโลกแห่งพลวัตน์โลกาภิวัตน์
ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นไม่ใช่ใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิตโดยอัตโนมัติอีกต่อไปดั่งเช่นที่เคยเป็นไปได้ในศตวรรษที่แล้ว
ทักษะภาษาเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่เป็นเพียงคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับพลเมืองไทย ให้สามารถเข้าสู่จุดเริ่มต้นออกวิ่งแข่งขันกับพลเมืองอื่นของอาเซียนอย่างเท่าเทียมกันได้เท่านั้น
Credit: Daily News สมเกียรติ อ่อนวิมล




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น