หลักสูตร สถาบันสอนภาษา Lingo

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

6 แนวคิดแก้ปัญหาบัญชีติดตัวแดง

6 แนวคิดแก้ปัญหาบัญชีติดตัวแดง

www.incquity.com


บัญชีติดตัวแดงหรือการที่บัญชีมีค่าติดลบนั้นนับเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดสำหรับการทำธุรกิจ เพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังมีปัญหาในการหมุนเงินไม่ทัน และกำไรที่ได้จากการธุรกิจก็ไม่เพียงพอที่จะให้ยอดทั้งหมดเป็นค่าบวกขึ้นมาได้ ยิ่งถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้นั้นค่าของตัวเลขที่ติดลบก็น่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็สายเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาไปเสียแล้ว ทาง Incquity จึงไปรวบรวมแนวคิดการแก้ปัญหาที่น่าสนใจมาจากกลุ่ม Young Entrepreneur Council (YEC) ที่เป็นแหล่งรวมตัวของผู้ประกอบการหน้าใหม่เพื่อมาดูว่าพวกเขามีแนวคิดที่จะช่วยให้บัญชีนั้นไม่ติดตัวแดงได้อย่างไรบ้าง

1. ตรวจสอบบิลค่าใช้จ่ายสม่ำเสมอ

หากธุรกิจของเรากำลังประสบปัญหาเงินขาดแล้วล่ะก็ คำแนะนำแรกก็คือลองไปตรวจสอบบิลค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนดูว่าที่ผ่านมานั้นเงินเราไปถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง เพราะเมื่อลองได้ทำบัญชีเงินเข้า-ออกดูแล้วก็จะสังเกตได้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นและอะไรที่ไม่จำเป็นแต่เรายังเสียค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอยู่เป็นประจำบ้าง อย่างเช่น ค่าสมาชิกบริการต่างๆ ที่เราอาจไม่ได้ใช้บริการแล้ว ก็ควรที่จะไปยกเลิกค่าใช้จ่ายเหล่านั้นใหเรียบร้อย แม้ว่าตัดต้นทุนตรงนี้อาจดูเล็กน้อย แต่หากนำมารวมๆ กันหลายๆ อย่างในช่วงหลายๆ เดือนแล้วก็ถือเป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียว

2. วิเคราะห์แผนธุรกิจกันใหม่

เมื่อแผนธุรกิจที่ทำอยู่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ต้นทุนหลายอย่างก็บานปลายเกินความพอดี จนสุดท้ายบัญชีต้องติดตัวแดงอยู่ทุกเดือน ทั้งหมดนี้คือสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่จะมานั่งวิเคราะห์แผนธุรกิจกันใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเงินทุนที่มีและเงินกำไรที่หาได้ว่าควรออกมาเป็นอย่างไร หรือถ้าหากจะยึดตามแผนเดิมจริงๆ เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจแล้ว ก็ควรที่จะมองหาแหล่งเงินทุนใหม่จากด้านอื่นๆ เพื่อให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนต่อไปในธุรกิจได้

3. ตามเงินลูกค้าให้ตรงเวลา

ในบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์กระแสเงินสดหมุนไม่ทันนั้น อาจไม่ได้มีสาเหตุจากการทำกำไรไม่พอเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากที่เรามีลูกหนี้ที่จ่ายเงินไม่ตรงเวลาที่เยอะเกินไปก็ได้ ทำให้แทนที่เราจะมีระบบเงินหมุนเวียนจากลูกค้าเมื่อส่งสินค้าแล้วกลับต้องถูกผัดผ่อนการชำระไปในอนาคตส่งผลให้เราไม่มีเงินที่จะนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเป็นค่าวัตถุดิบได้ ดังนั้นการเร่งรัดลูกค้าให้มีการจ่ายเงินตรงเวลา โดยอาจให้ส่วนลดหรือข้อเสนอพิเศษอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกค้านั้นยอมจ่ายเงินเราได้เร็วขึ้นเพื่อการเงินเรากลับสู่สภาวะเดิม

4. ลดเงินเดือนตัวเองลง

วิธีที่ง่ายที่สุดแล้วที่จะตัดค่าใช้จ่ายของบริษัทออกก็คือการเริ่มต้นที่ตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจมาผู้ประกอบการทั้งหลายควรรู้ว่าเงินเดือนของเราเองนั้นเป็นเงินที่สามารถปรับลดลงได้ง่ายที่สุดโดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับใครในธุรกิจนอกจากตัวเราเอง บางคนนั้นอาจเคยหักเงินเดือนตัวเองออกจนเหลือ 0 บาทไปเลยด้วยซ้ำเมื่อพบว่าบัญชีนั้นติดตัวแดง ซึ่งหากมีเงินเก็บอยู่ก็ให้นำเงินส่วนนั้นมาใช้ไปก่อน แล้วค่อยเพิ่มเงินเดือนกลับมาเหมือนเดิมเมื่อเห็นว่าธุรกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจนบัญชีไม่ติดตัวแดงอีกต่อไป

5. อะไรไม่ใช้ก็ขายทิ้ง

หลายต่อหลายครั้งที่ธุรกิจมีสิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือบางส่วนที่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว อย่างเช่นคอมพิวเตอร์เก่าตกรุ่นที่ไม่ซัพพอร์ทงานในปัจจุบัน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกส่งเข้าห้องเก็บของมานาน ลองนำสินค้าเหล่านี้มาประกาศขายทางเว็บดูบ้างก็จะเพิ่มเงินได้ไม่มากก็น้อย เพราะในปัจจุบันก็มีเว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางมากมายในการซื้อ-ขายสินค้าเหล่านี้ ซึ่งแต่ละหมวดก็จะมีความหลากหลายเข้ากับสิ่งของที่ต้องการขายได้ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บบรรดาของที่ไม่ได้ใช้แล้วอีกด้วย

6. มองหาสาเหตุของปัญหา

เมื่อใดก็ตามที่พบว่าเงินหมุนเวียนในระบบนั้นเริ่มติดขัดจนบัญชีเริ่มติดลบแล้วนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือการหาว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหาที่ว่านี้ เหมือนกับหมอที่ก่อนจะจ่ายยาก็ต้องมีการวินิจฉัยโรคก่อนว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร ซึ่งวิธีดูที่ง่ายที่สุดคือการเริ่มต้นดูจากรายการบัญชีเงินเข้า-ออกจากธุรกิจว่ามีอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาบ้าง เมื่อเจอแล้วค่อยวิเคราะห์ว่าต้นเหตุของปัญหาที่ว่านี้สามารถตัดทิ้งไปได้หรือไม่ อย่างเช่น หากพบว่าค่าใช้จ่ายที่มีตัวเลขสูงเกินไปจนทำให้ภาพรวมของระบบติดลบนั้นเกิดจากคอร์สเทรนพนักงาน ก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้วคอร์สเหล่านี้มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน ถ้าหากตัดออกแล้วหาวิธีอื่นอย่างการให้พนักงานฝึกฝนเป็น On the Job ไปเลยจะได้หรือไม่ ซึ่งถ้าได้ก็จะลดคอร์สตรงนี้ลงไปได้ไม่น้อยเลย แต่ถ้าหากวิเคราะห์แล้วว่าคอร์สนี้จำเป็นมากก็ลองหาสถานที่ฝึกสอนเจ้าอื่น หรือหาโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้หรือไม่
• • •
ปัญหาบัญชีติดลบนั้นถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจที่มีโอกาสขึ้นกันได้ ขอเพียงตั้งสติแล้วเริ่มต้นจากการหาสาเหตุของปัญหา ก่อนที่จะหาทางค่อยๆ หาทางแก้ให้ถูกจุด สถานการณ์ทุกอย่างก็จะกลับมาดีเหมือนเดิมได้ไม่ยาก  ซึ่งหากเกิดปัญหาบัญชีติดลบขึ้นเมื่อไรลองค่อยๆ ดำเนินการปรับใช้ตาม 6 แนวทางนี้กันดูครับ

บทความแนะนำจาก INCquity

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น