มาทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก
credit: www.gh3tallplus.com
โรคภูมิแพ้ (Allergic disorders) คือ โรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีความไวผิดปกติต่อสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้นร่างกาย โดยในคนปกติเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ ทั้งทางผิวหนัง การรับประทาน การสูดดม การฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือด แม้แต่แมลงสัตว์กัดต่อย ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น โดยปกติร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมากำจัดสารนั้นออกไปจากร่างกาย แต่อาการของโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้นและแต่ละคนจะแสดงอาการไม่เหมือนกัน ในคนที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้จะไม่เกิดปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ จากรายงานทางการแพทย์พบสารก่อภูมิแพ้จำนวนมากกว่า 4,000 ชนิด สารก่อภูมิแพ้ที่พบในประเทศไทย ได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ รังแคจากสัตว์เลี้ยง
- สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล ข้าวสาลี
โดยทั่วไปสามารถแบ่งแยกสารก่อภูมิแพ้ได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- สารก่อภูมิแพ้ภายในบ้าน เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ฝุ่น เชื้อราในอากาศ รังแคจากสัตว์เลี้ยง ขนสัตว์เลี้ยง
- สารก่อภูมิแพ้ภายนอกบ้าน เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ละอองจากพืช ฝุ่นละอองในอากาศ ควันจากท่อไอเสียรถตามท้องถนน ผลพิษทางอากาศ ควันจากการเผาไหม้
สารเหล่านี้เป็นสารที่ทำให้เกิดการระตายเคืองและกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาการกำเริบมากขึ้น โรคภูมิแพ้นั้น ถือได้ว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งของการสาธารณสุขในประเทศไทย จากรายงานการวิจัย พบว่า มีเด็กไทยที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด (asthma) ประมาณร้อยละ 7 ของประชากร นั่นคือมีเด็กไทยถึง 700,000 คนที่ป่วยด้วยโรคหืด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เป็นๆ หายๆ บางครั้งอาการกำเริบรุนแรงจนต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้ออกซิเจนและพ่นยารักษาอาการหอบ หากเป็นรุนแรงมากจนขาดออกซิเจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ก่อนจะถึงมือแพทย์
สำหรับโรคแพ้อากาศหรือโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ จากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพ พบผู้เป็นโรคนี้มากถึงร้อยละ 40 ของเด็กในเขตเมืองหลวง อาการที่พบคือ คัดจมูก มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง จาม คันจมูก คันตา ทำให้ไม่สบายตัว รบกวนการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้มีการพัฒนาไม่เต็มที่ เนื่องจากเด็กมีความกังวลกับอาการเหล่านี้ ในเด็กบางรายที่มีอาการคัดจมูกมาทำให้นอนไม่หลับได้ และอาจเกิดการขาดออกซิเจนในขณะนอนหลับ ทำให้ได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ไม่กระฉับกระเฉง ง่วงนอนตอนกลางวัน ทำให้ได้รับการเรียนรู้ได้น้อยลง มีผลต่อการพัฒนาด้านความรู้ของเด็กได้ ดังนั้นโรคภูมิแพ้ไม่เป็นเพียงแต่โรคที่สร้างความรำคาญให้แก่ชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังส่งผลต่ออนาคตเด็กในระยะยาวและถ้าเป็นภูมิแพ้ขั้นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภัยจากภูมิแพ้นั้นใกล้ตัวนัก เช่น เมื่อโดนแมลงสัตว์กัดต่อย หากมีสารก่อความแพ้พิษของแมลงในร่างกาย จะทำให้ความรุนแรงของพิษแมลงเหล่านั้นมากกว่าคนปกติที่ไม่มีอาการแพ้ ดังเคยมีข่าวคนโดนต่อต่อยหรือผึ้งต่อยแล้วเสียชีวิต เป็นต้น หลายๆครอบครัวต้องใช้เงินมากมายเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ แต่ส่วนใหญ่นั้นยังไม่ทราบถึงความน่ากลัวของโรคนี้เพราะน้อยคนที่จะเป็นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงไม่ได้มีการป้องกันอย่างจริงจังในประเทศไทย
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย บางคนเกิดในบริเวณเดียว บางคนเกิดในหลายๆอวัยวะพร้อมกัน ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ โรคภูมิแพ้แสดงอาการได้หลายรูปแบบ โรคภูมิแพ้ในเด็กที่สำคัญได้แก่
- โรคหืด (asthma) เกิดจากการที่ทางเดินหายใจมีการบวมหลอดลมตีบแคบ เมื่อถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าไปในขณะหายใจ ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในหลอดลมและปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง “ วี๊ด “ หอบ เหนื่อย แน่นหน้าอก ผู้ป่วยจะมีหลอดลมที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมหรืออารมณ์ ร้อนไป หนาวไป การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปหรือแม้กระทั่งการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ
- โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคแพ้อากาศ มีอาการคัดจมูก ส่วนใหญ่เป็นอาการในจมูกทั้งสิ้น มีอาการจาม คัน น้ำมูกใสๆไหลแทบทุกวัน เป็นเรื้อรัง บางคนเป็นภูมิแพ้ในตามร่วมด้วย คือ มีอาการคันที่ตา น้ำตาไหล หรือมีอาการแสบตาในเด็กบางราย
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผิวหนังมีอาการคัน มีผื่นแดง เป็นผื่นเรื้อรัง อาการจะเป็นๆหายๆ ตามแก้ม คอ บริเวณใบหู พบบ่อยในเด็กเล็ก ในเด็กโตจะพบผื่นตามข้อพับ แขนและขา ข้อเท้า อาการผื่นคันจะเห่อมากขึ้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศร้อน เหงื่อออกมาก การกระตุ้นจากการเกาทำให้ผื่นกระจายออกเป็นวงกว้าง เมื่อผื่นเป็นวงกว้าง จะมีอาการคัน เด็กจะเกามากขึ้นทำให้บริเวณผื่นกลายเป็นแผลเลือดออกได้
- ผื่นลมพิษ (urticarial) ผิวหนังมีอาการคัน บวม เป็นผื่นนูนหนา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุได้ เช่น การแพ้อาหาร แพ้ยา จากแมลงสัตว์กัดต่อย การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือในบางรายก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าเกิดจากอะไร เป็นต้น
- การแพ้อาหาร (food allergy) เป็นปฏิกิริยาการแพ้ส่วนประกอบในอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นโปรตีน มีอาการแสดงถึงการแพ้ได้หลายแบบ อาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระหรืออาเจียนเป็นเลือด อาการตามผิวหนัง เช่น ผิวหนังผื่นอักเสบจากภูมิแพ้ สมพิษ อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจเสียงดังครืดคราด เป็นต้น ในผู้ป่วยที่แพ้อาหารขั้นรุนแรง (anaphylaxis) ทำให้ระบบอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนเสียชีวิตได้
- เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อยๆ จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ มักพบร่วมกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง
จากภูมิแพ้ชนิดต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หากเกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรง (anaphylaxis) จะเสียชีวิตได้ อีกโรคหนึ่งที่เมื่อเป็นขั้นรุนแรงแล้วอาจทำให้ตายได้คือโรคหอบหืด ที่เกิดจากการจับหืดเฉียบพลัน หลอดลมจะอยู่ในสภาวะตีบมากจนปอดไม่สามารถไม่ทำงานได้ ผู้ป่วยจะมีสภาวะขาดออกซิเจนจนเสียชีวิตในที่สุด การแพ้ขั้นรุนแรงที่พบไม่บ่อยนักคือ การแพ้อาหารอย่างรุนแรง ลำไส้จะเกิดการอักเสบจนท้องร่วงอย่างรุนแรง ช็อกเนื่องจากเสียน้ำในร่างกายไปมากจากการถ่ายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีรายงานที่น่าสนใจระบุว่าผู้เป็นโรคภูมิแพ้ยังทำให้คนรอบข้างเสียชีวิตได้อีกด้วย เพราะเมื่อเกิดอาการแพ้อากาศจนทำให้จามติดต่อกันขณะขับรถยนต์ รถจึงเกิดการเสียการทรงตัวทำให้เกิดอุบัติเหตุ จนเสียชีวิตได้ เป็นต้น
IgE คืออะไร
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ สารนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการสร้างภูมิต้านทาน เรียกว่า ไอจีอี (IgE) เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน คือ Johansson และ Ishizaka ได้ค้นพบสารชนิดนี้ ในเลือดของคนมีปริมาณ IgE ที่ต่ำมาก ประมาณ 17-450 นาโนกรัมต่อเลือดหนึ่งมิลิลิตร ( 1 ในพันล้านส่วนของ 1 กรัม) IgE ที่สร้างขึ้นมาจะไปเกาะบนผิวของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ เรียกว่า มาสเซลล์ (mast cell) ซึ่งสามารถพบเซลล์นี้ได้บริเวณเยื่อบุในจมูก ตา หลอดลม ผิวหนังและทางเดินอาหาร ถ้าร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ซ้ำ จะเกิดการกระตุ้นผ่าน IgE เกิดปฏิกิริยา ให้มาสเซลล์สร้างและปลดปล่อยสารต่างๆออกมา สารที่สำคัญ ได้แก่ ฮีสตามีน (histamine) และลิวโคไตรอีน (leukotriene) กระจายไปทั่วร่างกาย สารเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ทั่วร่างกาย หลอดเลือดขยายตัว มีการรั่วไหลของสารน้ำออกไปนอกหลอดเลือด มีการสร้างสารคัดหลั่งตามเยื่อบุต่างๆมากขึ้น ก่อให้เกิดอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูก ไอมีเสมหะ ผื่นคันตามผิวหนัง
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้
ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ก็มีในบางรายที่มีความเสี่ยงสูงตั้งแต่เกิดเช่นกัน ปัจจัยหลักของการเป็นโรคภูมิแพ้คือ พันธุกรรม พบว่าถ้าพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ร้อยละ 50-70 ความเสี่ยงจะลดลงเล็กน้อยถ้าพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้คนละชนิดกัน ถ้าพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ ความเสี่ยงจะลดลงร้อยละ 20-40 ถึงแม้พ่อและแม่จะไม่มีคนใดคนหนึ่งที่เป็นโรคภูมิแพ้เลย เด็กที่เกิดใหม่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ร้อยละ 10-15 เช่นกัน เพราะปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้คือความแข็งแรงภูมิคุ้มกันของร่างกายและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง สิ่งระคายเคืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไรฝุ่น เกสรจากพืช ควันจากท่อไอเสีย แสงแดด ควันบุหรี่ และสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจตั้งแต่แรกเกิด สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ทั้งสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น