หลักสูตร สถาบันสอนภาษา Lingo

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เชื้ออีโบลา กับ 8 เรื่องที่คุณควรรู้




      เชื้ออีโบลา กับ 8 เรื่องที่คุณควรรู้

      www.kapook.com 




                เชื้ออีโบลา 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้วนับพัน เสียชีวิตแล้วกว่า 600 ราย ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสอีโบลา ไวรัสมรณะติดแล้วถึงตายไปพร้อม ๆ กัน 

                อีโบลา เป็นเชื้อไวรัสมรณะที่กำลังระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก จนทำให้นายแพทย์ชีคห์ อูมาร์ ข่าน ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการต่อต้านเชื้ออีโบลา ป่วยจากการติดเชื้อเสียเองและเสียชีวิตลงในที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้การระบาดยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 1,300 คน เสียชีวิตแล้วกว่า 600 ราย เชื้อไวรัสอีโบลาจะแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายและความรุนแรงของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีสิทธิ์เสียชีวิตสูงถึง 50%-90% เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักเชื้อไวรัสมรณะนี้ให้มากขึ้น และนี่คือ 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่เรานำมาฝากจากเว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ ค่ะ 

                 1. เชื้ออีโบลา ระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 

                เชื้อไวรัสมรณะระบาดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศซูดานและซาร์อี (ปัจจุบันคือ คองโก) ในปี 2519 และถูกตั้งชื่อว่า "อีโบลา" ตามชื่อแม่น้ำในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ก็ยังมีรายงานการระบาดให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา อาทิ คองโก ไอวอรี่โคสต์ ยูกันดา ซูดานใต้ กาบอง กินี และไลบีเรีย

                 2. เชื้ออีโบลา มี 5 สายพันธุ์ 

                เชื้อไวรัสอีโบลามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ตั้งชื่อตามสถานที่ที่เกิดการระบาด ได้แก่ อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire), อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan), อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire), อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston) และ อีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) โดยสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างหนักในแอฟริกาตะวันตกขณะนี้ คือ อีโบลา-ซาร์อี และยังมีสายพันธุ์ อีโบลา-เรสตัน ที่เชื้อไม่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์

                 3. ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคอีโบลามักเสียชีวิต 

                จากสถิติผู้ป่วยโรคอีโบลาสายพันธุ์ซาร์อีในตอนนี้ มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80%-90%

                 4. ไวรัสอีโบลา แพร่เชื้อจากคนสู่คน

                เชื้อไวรัสอีโบลาสามารถแพร่ได้จากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากตัวผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เลือด เหงื่อ ปัสสาวะ หรืออสุจิ รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ราวจับประตู ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ตลอดจนการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยเชื่อว่าค้างคาวผลไม้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวแอฟริกานิยมจับทำอาหาร เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดงดล่าและนำค้างคาวมาประกอบอาหารแล้ว 

                 5. อีโบลา ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนจากอาการแรกเริ่ม

                การวินิจฉัยผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลาในช่วงแรกอาจเป็นไปได้ล่าช้า เนื่องจากอาการผื่นและตาแดง ซึ่งเป็นอาการแรกเริ่มของโรค ก็เป็นอาการของความเจ็บป่วยชนิดอื่นได้เช่นกัน ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคในระยะแรกที่ติดเชื้อนั้นไขว้เขวหรือไม่แม่นยำ อย่างไรก็ดี ในตอนนี้มีกระบวนการตรวจสอบเชื้อซึ่งจะทราบผลอย่างแม่นยำได้ในไม่กี่วันหลังมีอาการ 

                 6. ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มแสดงอาการหลังรับเชื้อแล้ว 8-10 วัน 

                ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการของโรคอีโบลา หลังได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 8-10 วัน แม้ว่าเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-21 วันก็ตาม โดยอาการจะประกอบด้วย มีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย ปวดข้อ การติดเชื้อยังทำให้เกิดอาการเลือดออกทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย มีปัญหาในการหายใจ การกลืนอาหาร เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ตาแดง สะอึก ไอ มีผื่น นอกจากนี้ อาการเลือดออกที่ตา จมูก หู และปาก นับเป็นอาการที่ชี้ถึงการติดเชื้อที่เด่นชัด 

                 7. การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ในขั้นรุนแรง 

                ปกติแล้ว การระบาดของโรคอีโบลา มักเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล แต่การระบาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลับเกิดขึ้นพื้นที่ซึ่งจัดว่าไม่ทุรกันดารนัก โดยในตอนมีการระบุพื้นที่ติดเชื้อต่าง ๆ แล้วกว่า 60 จุด ในประเทศเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย 

                 8. ปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคอีโบลา 

                ในปัจจุบันยังคงไม่มียาหรือวิธีการเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยเฉพาะ รวมทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ทำได้ในตอนนี้ คือ การรักษาไปตามอาการ คอยรักษาระดับของเหลวและอิเล็กโตรไลท์ในร่างกายในสมดุล รักษาระดับความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในเลือด และรักษาตามอาการติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น 

                โรคอีโบลา โรคติดเชื้อร้ายแรง ติดแล้วถึงตาย อีกทั้งยังคงไม่สามารควบคุมการแพร่ระบาดได้ในปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการระบาดต่ำ แต่การทราบข้อมูลของเชื้อโรค และการไม่ประมาทที่จะป้องกันตัวเอาไว้ก่อน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น