หลักสูตร สถาบันสอนภาษา Lingo

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โซเชียลทำพิษ... 5 โรคฮิตของคนติดจอ


      โซเชียลทำพิษ... 5 โรคฮิตของคนติดจอ
       credit: www.kapook.com


             


     5 โรคฮิตของคนติดจอ ติดแชท หมกมุ่นอยู่กับโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมาก ๆ ป่วยไม่รู้ตัว มาดูซิมีโรคอะไรบ้าง แล้วเราเองก็เข้าข่ายด้วยหรือเปล่า

              ยุคสังคมออนไลน์ที่แทบทุกคนต้องมีสมาร์ทโฟน คุยกับเพื่อนผ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์แทนการโทรศัพท์ สไลด์หน้าจอรับข่าวสารรอบตัวแบบไม่ให้ตกยุค พฤติกรรมแบบนี้แหละที่หอบเอาปัญหาสุขภาพจากความอินเทรนด์มาถึงตัวแบบยกเซต ว่าแต่ชาวโซเชียลมีเดียมักมีปัญหาสุขภาพอะไรมากที่สุดนะ

              สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้นำข้อมูลจาก คอลัมน์ ทันโรค ของ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่เขาจัดอันดับ 5 โรคฮิตของคนติดโซเชียลมีเดียไว้มาบอกกัน โดย 5 โรคฮิตของคนติดจอ ก็คือ โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก, โรคละเมอแชท, โรควุ้นในตาเสื่อม, โรคโนโมโฟเบีย และโรคสมาร์ทโฟนเฟซ เอ...ฟังชื่อดูก็ประหลาด ๆ ทั้งนั้น งั้นเรามาดูซิว่าแต่ละโรคเป็นอย่างไร แล้วอาการไหนที่เราเข้าข่ายซะแล้ว  

    โรคซึมเศร้า


    1. โรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression Syndrome)

              หลายคนอาจสงสัยว่า เล่นเฟซบุ๊กก็มีเพื่อนตั้งมากแล้วจะเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร แต่อาการนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เพราะคนเราเมื่อติดอยู่แต่หน้าจอ จิ้ม ๆ กด ๆ คุยกับคนในโลกออนไลน์ ก็กลายเป็นไปเพิกเฉยต่อคนในโลกจริง แถมหลายคนใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องระบายความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาเราว้าเหว่ เหงา เดียวดาย ก็ยิ่งโพสต์เยอะ

              โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้เขียนบทความให้ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก ไว้อย่างน่าสนใจว่า วารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ และพบว่า คนที่ถูกเพื่อน ๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลกแห่งความจริง และหลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา 

              นั่นเพราะเฟซบุ๊กได้สร้างความเป็นจริงเทียม (artificial reality) ขึ้นมา จากการโพสต์แต่เรื่องดี ๆ แต่เก็บงำเรื่องร้าย ๆ แย่ ๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ เราถึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบในโลกเสมือนจริงเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ความรู้สึก "ไร้ค่า" จึงเกิดขึ้น

              ถ้าคุณรู้สึกเสียความมั่นใจสุด ๆ เวลาส่งคำร้องไปขอเป็นเพื่อนแล้วไม่ได้รับการตอบรับ เก็บมาคิดว่าทำไมจึงไม่เป็นที่ต้องการ นี่ก็เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊กแล้ว วิธีหลีกหนีอาการนี้ก็คือ ลดการเล่นเฟซบุ๊กลง ทั้งอ่านเรื่องคนอื่น และโพสต์เรื่องตัวเอง จะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น

    Sleep Texting


     2. ละเมอแชท (Sleep-Texting)

              อาการนี้ก็คือ ถึงแม้เราจะนอนแต่ก็ยังลุกขึ้นมาพิมพ์เหมือนกับคนละเมอนั่นเอง สาเหตุก็มาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนเกินเหตุ ทำให้สมองยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอน หากมีข้อความเข้ามา สมองก็จะปลุกร่างกายที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราอาจไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรไป หรือส่งไปหาคน เพราะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แบบนี้ก็เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดได้เลยนะเนี่ย
              นอกจากเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดแล้ว อาการละเมอแชทยังกระทบสุขภาพด้วย เพราะเมื่อสมองปลุกให้เราตื่นในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสมความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงานได้เลยล่ะ

    โรควุ้นในตาเสื่อม

     3. โรควุ้นในตาเสื่อม

              ปกติเราก็ใช้งานดวงตาหนักอยู่แล้ว และถ้ายิ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพ่งข้อความในจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ยิ่งทำให้ดวงตาของเราก็ทำงานหนักขึ้นแบบคูณสอง ถ้าปล่อยไปนาน ๆ จนมองเห็นหยากไย่ ตาข่าย หรือเส้นอะไรวนไปวนมาเหมือนยุง ปัดเท่าไรก็ไม่โดนสักที แบบนี้ต้องรีบหาหมอแล้ว เพราะนี่คือ "โรควุ้นในตาเสื่อม" 

              จะบอกว่าจริง ๆ แล้วโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ เพราะใช้งานดวงตามานานจนเสื่อมไปตามวัย แต่น่าตกใจทีเดียวที่ปัจจุบันพบคนอายุน้อย ๆ เป็นโรคนี้มากขึ้น สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากการแชททั้งวัน จ้องจอทั้งคืน เล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันนาน ๆ ไม่ว่างเว้นนี่เอง พอรู้สึกปวดตาก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก มารู้ตัวอีกทีก็เห็นภาพเป็นคราบดำ ๆ เป็นเส้น ๆ ไปซะแล้ว 

              วิธีป้องกันก่อนเป็นโรควุ้นในตาเสื่อมก็ไม่ยากเลย แค่รู้จักพักสายตาเสียบ้าง มองไปในที่ไกล สูดอากาศธรรมชาติให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย หลับตาลงสักครู่ รู้จักใช้งานเทคโนโลยีในมืออย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงโรคนี้ได้แล้ว

    โนโมโฟเบีย

     4. โนโมโฟเบีย (Nomophobia)

              ชื่อประหลาด ๆ นี้ มาจากคำว่า "no-mobile-phone phobia" แปลตรงตัวก็คือ โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวล 

              คิดดูว่าถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์ดันหมดซะงั้น แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ในบางคนเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ได้เลย ซึ่งอาการจะหนักเบาขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคน

              สำรวจตัวเองดูหน่อยซิว่า เราหมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในมือถือ ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ หรือเปล่า หรือทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเตือนจากมือถือจะต้องวางภารกิจทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าแล้วรีบคว้าโทรศัพท์มาเช็กแบบด่วนจี๋ทันใจ ใครเป็นแบบนี้ก็เข้าข่ายโนโมโฟเบียแล้วล่ะจ้า ยิ่งถ้าตื่นนอนปุ๊บเช็กมือถือปั๊บ ห่างจากมือถือไม่ได้เลย หรือใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนตรงหน้า ก็ยิ่งชัด 

              ใครที่มีอาการอย่างที่กล่าวว่า ต้องระวังปัญหาสุขภาพให้มาก ๆ โดยเฉพาะนิ้วล็อก ปวดตา ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร เพราะนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ รวมทั้งอาการนอนไม่หลับ และโรคอ้วนที่เกิดจากมัวแต่นั่งเล่นมือถือนาน ๆ ไม่ลุกไปไหนด้วยนะ

    โนโมโฟเบีย


     5. โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)

              โรคฮิตของคนติดแชทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 5 ก็คือ โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face) หรือโรคใบหน้าสมาร์ทโฟน เกิดจากการที่เราก้มลงมองหน้าจอ หรือจ้องสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็งและไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม 

              เมื่อแก้มถูกแรงกดนาน ๆ เข้า ก็จะทำให้เส้นใยอิลาสติกบนใบหน้ายืด จนแก้มบริเวณกรามย้อยลงมา แถมกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากก็จะตกไปทางคางด้วย จนใบหน้าอาจดูผิดแปลกไปจากเดิม และจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อถ่ายภาพด้วยอุปกรณ์ของตัวเอง ฟังแล้วน่ากลัวนะเนี่ย หากใครเป็นมาก ๆ เข้าก็ถึงกับต้องศัลยกรรมกันเลยนะ

              สรุปแล้วว่าทั้ง 5 โรคนี้ดูไม่ได้ไกลจากตัวเราเท่าไรเลยนะคะ เพราะทุกคนล้วนใช้โลกออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันหมด แต่วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างจากโรคเหล่านี้ก็ไม่ยากเลย แค่รู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม ก้มมองหน้าจอให้น้อยลง เล่นโทรศัพท์ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมให้น้อยลง จะได้ไม่ด่วนป่วยไปซะก่อนไงคะ
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น